svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

"นักจิตวิทยา" เผยแนวทางเยียวยาใจ วอนโซเชียลหยุดซ้ำเติมครอบครัวเหยื่อ

07 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“นักจิตวิทยา” เผยแนวทางการเยียวยาจิตใจครอบครัวเหยื่อกราดยิงหนองบัวลำภู วอนสังคมออนไลน์หยุดซ้ำเติมผู้สูญเสียโดยการแชร์ภาพรุนแรง

จากกรณี "อดีต ตำรวจ สภ.นากลาง" ก่อเหตุใช้อาวุธปืนกราดยิง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 ศพ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู  รวมทั้งครู และชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง ซึ่งภายหลังคนร้ายลงมือก่อเหตุ จึงได้ตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงลูกและภรรยา รวมทั้งปลิดชีพตัวเองเสียชีวิตภายในบ้านพัก ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น  (อ่านข่าว)

 

"นักจิตวิทยา" เผยแนวทางเยียวยาใจ วอนโซเชียลหยุดซ้ำเติมครอบครัวเหยื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิต และศาสนาปรัชญา และกรรมการบริหารสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง ได้โพสรูปภาพพร้อมข้อความ “ #โปรดร่วมกันช่วยเหลือทางใจผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสียที่จังหวัดหนองบัวลำภู ใครที่รู้จักกับพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติของผู้ที่สูญเสียที่จังหวัดหนองบัวลำภูโปรดช่วยเหลือจิตใจกันด้วยการโทรศัพท์ไปหาหรือเข้าไปหา อยู่เป็นเพื่อนให้กำลังใจ ด้วยการใช้หลักการ5ข้อดังภาพ และคงต้องคัดกรองภาวะเครียดและซึมเศร้าและช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาวจนกว่าเขาจะปรับใจอยู่ได้ครับ” โดยรูปภาพ 5 ระยะของปฏิกิริยาทางจิตของผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสีย

 

ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิต และศาสนาปรัชญา

 

นอกจากนี้  ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วิธีการเยียวยาดูแลจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตที่จังหวัดหนองบัวลำภู สิ่งแรกคือ ต้องเข้าไปอยู่เป็นเพื่อน อย่าทำให้ผู้สูญเสียอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงา ต้องทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกว่ายังมีคนอื่น ๆอยู่ในชีวิต เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน อันดับต่อมาคือ เปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียได้ระบายความทุกข์ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การร้องไห้ การบ่น ให้คนรอบข้างรับฟังด้วยท่าทีที่เป็นมิตร หากอยู่ใกล้ชิดสามารถใช้วิธีจับมือ ออบกอดผู้สูญเสียได้ โดยที่ยังไม่ต้องอธิบายเหตุผลใด ๆต่อผู้สูญเสีย หรือหากอยู่ไกลสามารถใช้วิธีโทรไปพูดคุยกับผู้สูญเสีย

ต่อมาให้ดูว่าผู้สูญเสียต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างในเบื้องต้น เช่น การจัดเรื่องงานศพ เพื่อทำให้ผู้สูญเสียมีคนที่คอยช่วยเหลืออยู่ เมื่อผู้สูญเสียเริ่มที่จะทำใจได้แล้ว คนรอบข้างต้องชวนให้ผู้สูญเสียมองเห็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดกับเราแค่คนเดียว เกิดขึ้นกับหลาย ๆคนดังนั้นมีคนที่ร่วมทุกข์กับเราอยู่ หรือชวนให้ผู้สูญเสียให้เห็นถึงสิ่งดี ๆที่เหลืออยู่

 

 ดร.วุฒิพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในแต่ละช่วงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทำให้ระยะที่เริ่มทำใจได้หรือความเข้มแข็งทางจิตใจในแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงในมุมมองของผู้สูญเสียคือ ผู้ที่ปรับสภาพจิตใจได้ช้า เนื่องจากจะอยู่ความทุกข์นาน มีความเครียดสะสม มีความเศร้าฝั่งลึก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น จากเดิมที่เคยทำงานได้ดี กลายเป็นว่าความสามารถในการทำงานลดลง หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้

 

"นักจิตวิทยา" เผยแนวทางเยียวยาใจ วอนโซเชียลหยุดซ้ำเติมครอบครัวเหยื่อ

 

สำหรับคนสังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการที่จะช่วยให้ผู้สูญเสียมีกำลังใจขึ้นมาได้ โดยในปัจจุบันนี้การให้กำลังใจกันในโลกสังคมออนไลน์สามารถสื่อสารให้กำลังใจไปยังทั้งผู้ที่สูญเสีย และญาติของผู้ที่สูญเสียได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรคือ การแชร์ภาพที่รุนแรง ภาพของเหยื่อ เพราะเป็นการซ้ำเติมผู้สูญเสีย ขณะนี้ได้มีการส่งนักจิตวิทยาไปที่จังหวัดหนองบัวลำภูตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ทั้งกรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข,กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยดูแลผู้สูญเสียที่มีความผิดหวังเสียใจจากเหตุการณ์เลวร้าย สิ่งที่ต้องป้องกันก็คือโรคPTSD ซึ่งเป็นโรคที่มีความเครียด มีความเศร้าจากเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต ซึ่งต้องดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

“สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ ต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาเป็นข้อคิดในการป้องกัน เชื่อความคนไทยทั้งประเทศมีความตระหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการยกระดับการป้องกันอยู่แล้ว อีกมุมหนึ่งคือ ประชาชนทุกคนต้องหันมามองคนใกล้ชิดของตนเอง ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน ว่ามีใครที่เสพสารเสพติด หรือมีปัญหาชีวิตต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือ” ดร.วุฒิพงศ์ กล่าว

logoline