svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดร.มัลลิกา" ลั่นจุดยืนปชป.ไม่เอา"กัญชาเสรี"ชี้เยาวชนแยกไม่ออก

14 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ดร.มัลลิกา" ชี้ กัญชาเสรีไม่ได้ "เยาวชนแยกไม่ออก" อภิปรายดุ ! ใครสั่งปปส.ปลดล็อคต้องรับผิดชอบ เอากลับไปทบทวน อย่าใช้พรบ.ดันทุรัง มาเป็นตัวประกัน 

 

14 ธันวาคม 2565  "ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพระราชบัญญัติกัญชา โดยระบุว่า แม้จะรู้ถึงความตั้งใจในการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดตามมาตราต่างๆแล้วยังเห็นช่องโหว่ ที่ไม่สามารถให้ผ่านไปได้โดยที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องใช้จิตสำนึกสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่ากัญชาไม่ใช่สารเสพติดในมาตรา 3 นั้น มันไม่เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และขณะนี้สังคมยังไม่ตกผลึกทางความคิดรวมทั้งสมาชิกในสภาฯแห่งนี้ด้วยเช่นกัน 

" พรรคประชาธิปัตย์เราสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์เท่านั้นและในเรื่องที่จะใช้ทางการแพทย์นั้นก็มีระเบียบมีกฎหมายเฉพาะที่สามารถดำเนินการได้มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นจากฐานข้อมูลวิจัยด้านต่างๆและการแยกชนิดและประเภทของกัญชา"

 

"ดร.มัลลิกา" กล่าวว่า  มาถึงวันนี้เราต้องยอมรับว่าผู้มีอำนาจหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปให้บอร์ดปปส.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดโดยที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้ผ่านสภาจึงเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างยิ่งเพราะทำให้เกิดสุญญากาศและสังคมก็ร่วมมีประสบการณ์ลองผิดลองถูกจนทราบว่าประชาชนเยาวชนยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าประเภทใดชนิดไหนกิ่งก้านใบตรงจุดใดจะเป็นทางการแพทย์เป็นยาหรือตรงส่วนไหนจะเป็นทางด้านสันทนาการและเป็นสารเสพติด

 

"เราจึงได้เห็นปัญหาร่วมกันพร้อมกันและได้เห็นผลกระทบที่เกิดกับเยาวชนซึ่งเป็นเยาวชนนั้นน่าห่วงใยที่สุด เพราะเขาไม่ได้มีความรู้เท่าทันหรือมีประสบการณ์มากพอในการที่จะยับยั้งหรือแยกแยะได้เท่าผู้ใหญ่อย่างเรา อย่างไรก็ตามในมาตรา3 ก็เช่นกัน แม้ท่านจะอธิบายแต่ในของเจตนาแยกไม่ออกมันชัดเจน" ดร.มัลลิกา กล่าว 

 

"ดร.มัลลิกา" กล่าวว่า การอภิปรายเรื่องนี้ก็ด้วยห่วงใยต่อปัญหาสังคมและเยาวชนประชาชน จึงเห็นสมควรว่าผู้เกี่ยวข้องน่าจะต้องนำกลับไปทบทวนและทำความเข้าใจร่วมกับภาคประชาสังคมและประชาชนให้ตกผลึกเสียก่อนส่วนเรื่องการปลดล็อคไปแล้วนั้นก็ควรจะต้องให้ผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดไม่ใช่ดันทุรังจะผ่านกฎหมายโดยที่สภาและสังคมมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน

 

logoline