svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดเส้นทาง "โฆษกสามสี" ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี จากเลขาฯ "ศ.ดร.ป๋วย" สู่ดาวสภา

เปิดเส้นทาง "โฆษกสามสี" ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี จากเลขาฯ "ดร.ป๋วย" สู่ดาวสภา ที่บรรดาคอการเมืองเฝ้าติดตาม จนถูกนำไปล้อเลียน

28 ตุลาคม 2565 ทำคอการเมืองช็อกทั้งประเทศ เมื่อดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.หลายสมัย ได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ เพื่อขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีมีกระแสข่าวว่า ดร.ไตรรงค็ จะย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค

 

โดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง #ใส่เสื้อฟ้าเป็นครั้งสุดท้าย #36 ปีกับพรรคประชาธิปัตย์”

 

พร้อมยอมรับว่า ยังมีพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกหลายพรรคที่มีจุดยืนด้านอุดมการณ์ที่ตรงกับใจของผม ที่ผมอยากสนับสนุนโดยเฉพาะมีอยู่หลายพรรค ที่เกิดใหม่จากคนที่ต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถจะบอกใครได้ (เพราะเกรงใจกัน) แต่เมื่อไปตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา ก็ได้มีการประกาศจุดยืนแห่งอุดมการณ์พร้อมมีนโยบายปฏิรูปหลายประการเหล่านี้ทำให้ผมเห็นด้วยและอยากสนับสนุน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "ไตรรงค์" ไขก๊อกลาออก ปชป. ลั่นขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง

 

หนังสือลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

สำหรับประวัติ

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน  2487 ปัจจุบันอายุ 78 ปี ที่จังหวัดสงขลา เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรี

 

ด้านการศึกษา

  • จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนอำนวยศิลป์
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2510
  • ระดับปริญญาโท จาก มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2515
  • สำเร็จปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2518

 

ด้านการเมือง

เคยเป็นเลขานุการส่วนตัวของ ศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอยู่ในมหาวิทยาลัยในเช้าวันเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย และเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหาจากฝ่ายอนุรักษนิยมพร้อมกับ ศ.ดร.ป๋วย แม้จะพยายามเสนอหลักการของสันติประชาธรรม เป็นทางเลือกที่ 3 ของสังคมไทย ที่ไม่ใช่เผด็จการฝ่ายขวา หรือคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย

 

เล่าผ่านเฟซบุ๊ก "ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง"

ปี 2529 ดร.ไตรรงค์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกในจังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นโฆษกรัฐบาลยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนี้มีบทบาทโดดเด่นมาก จนได้รับฉายาว่า "โฆษกสามสี " (มาจากชื่อของเจ้าตัว ที่แปลว่า สามสี)

 

หลังจากนั้นได้รับความไว้วางใจจากชาวสงขลาให้ได้เป็นส.ส.มาโดยตลอด และบทบาทในรัฐสภาของ ดร.ไตรรงค์ นับว่าเป็นดาวสภาที่ไม่เป็นรองใคร เป็นนักอภิปรายที่มีลีลาโดดเด่น ที่คอการเมืองหรือแม้แต่สื่อมวลชน เฝ้าติดตาม รวมถึงมีมุขตลกที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะเป็นสีสันได้อย่างมาก

 

หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า พลตรีขัตติยะ สวัสดิผลไตรรงค์ หรือ เสธแดง เคยเป็นนายทหารติดตาม และทำหน้าที่ช่วยงานประจำของดร.ไตรรงค์ มาก่อน

 

จากความโดดเด่นในการเป็นนักอภิปราย โดยเฉพาะสำเนียงใต้และลีลาการพูดจา จนกลายเป็นต้นฉบับ ที่ถูกนำไปเลียนแบบ โดยเฉพาะในสายบันเทิง หรือรายการล้อการเมือง ในยุคหนึ่ง เสมอ ๆ โดยผู้ที่เลียนเสียงของ ดร.ไตรรงค์ ที่มีชื่อเสียง 1 ในนั้นคือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ครั้งหนึ่งในความทรงจำของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

 

ครั้งหนึ่งในยุค กปปส.

 

ปี พ.ศ. 2548 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ปรับโครงสร้างผู้บริหารพรรค ดร.ไตรรงค์ ได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ดร.ไตรรงค์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ถูกอ้างว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีมีสมาชิกของพรรค ร่วมกันขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ที่อาคารรับสมัคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นมูลเหตุอ้างอิงที่จะให้มีคำสั่งยุบพรรค แต่ในที่สุดมีคำวินิจฉัยคือ กรณีดังกล่าวไม่สามารถรับฟังได้ว่า ดร.ไตรรงค์ มีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว

 

ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปี 2550 มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว ได้ประกาศจัดตั้ง รัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ดร.ไตรรงค์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีเงาว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ประวัติการดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ประกอบด้วย

  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2529, 2531, 2535/1, 2535/2, 2538, 2539
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ / แบบสัดส่วน พ.ศ. 2544, 2548, 2550, 2554, 2562
  • สมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2524-2529
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ปี  2531-2534
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปี  2535-2537
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปี  2537-2538
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปี  2540-2541
  • รองนายกรัฐมนตรี ปี  2542, 2553
  • ได้รับพระราชทานยศ “นายกองเอก” แห่งกองอาสารักษาดินแดน เมื่อ พ.ศ. 2532

 

ที่มา ฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและวิกิพีเดีย