svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดบทเรียน ปรากฏการณ์"โน้สอุดม"ถึง"ศรีสุวรรณ" เห็นต่างได้แต่ไม่รุนแรง

23 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปชป." จัดเสวนา "ถอดบทเรียน…ปรากฏการณ์โน้สอุดมถึงศรีสุวรรณ"ชี้สังคมไทยต้องใช้ความรู้มากกว่าความรู้สึก ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของรัฐ

 

23 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา "ถอดบทเรียน…ปรากฏการณ์โน้สอุดมถึงศรีสุวรรณ" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. "ปู" จิตกร บุษบา นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง และนายณัฐชัย มาไชยนาม นักกฏหมายคนรุ่นใหม่ ของพรรค ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

 

ถอดบทเรียน ปรากฏการณ์\"โน้สอุดม\"ถึง\"ศรีสุวรรณ\" เห็นต่างได้แต่ไม่รุนแรง

 

โดย"นายองอาจ" ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กรอบของกฏหมาย สามารถแสดงความเห็นต่างได้ แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง ซึ่งหากไม่เห็นด้วย ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิเสรีภาพ ในกรณีที่เห็นว่าผิดกฏหมายสามารถใช้กระบวนการทางกฏหมายเข้าไปดำเนินการ 

 

กรณีของนายศรีสุวรรณ นั้น มองว่าสามารถร้องเรียนเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ส่วน โน้ส อุดม นั้น ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปในฐานะนักแสดงทอล์คโชว์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่อยากให้สังคมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะแค่การทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่การสร้างความรุนแรงทางจิตใจก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และสังคมไทยควรเป็นสังคมที่ใช้ "องค์ความรู้" มากกว่า "ความรู้สึก"

 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม.

"การจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม ทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วม และนักการเมืองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ และยอมรับความเห็นต่างโดยสุจริต ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ขอให้ทุกคนเคารพการตรวจสอบ หากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่า ควรจะเลือกเข้ามาให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนหรือไม่"  นายองอาจ กล่าว 

"ปู" จิตกร บุษบา นักสื่อสารมวลชนอิสระ

 

สำหรับ "ปู" จิตกร บุษบา นั้น ย้ำว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องยอมรับมุมมองที่แตกต่างระหว่างบุคคล และการยอมรับในความเห็นต่างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ และสังคมไทยต้องแยกแยะใน 3 ประเด็นหลัก คือ ระหว่างอคติกับสติ ระหว่างความรู้กับความรู้สึก และระหว่างตัวบุคคลกับตัวประเด็นเนื้อหา  ซึ่งการจะแก้ปัญหาเรื่องทัศนคตินั้น ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และกระบวนการสร้างสมความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา มีบ่อเกิดมาจากการที่สังคมแบ่งคนออกเป็นฝักฝ่าย และผู้คนก็เลือกที่จะเชื่อเฉพาะในส่วนที่เป็นมุมมองและความคิดเห็นที่เป็นฝั่งตัวเองเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ก็มีสิ่งที่เป็นข้อกังวลก็คือ นักการเมือง หรือพรรคการเมือง บางพวกในปัจจุบันเลือกที่จะใช้การสร้างความเกลียดชังในสังคม เพื่อ แบ่งคน แบ่งสี แบ่งข้าง เพื่อสร้างคะแนนนิยม ทำการเมืองแบบมักง่าย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สั้น และรวดเร็ว มากกว่าที่จะให้ความรู้ประชาชน ในการเลือกจากนโยบาย และแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ 

 

นายณัฐชัย มาไชยนาม นักกฏหมายคนรุ่นใหม่ ของพรรคปชป.

 

ส่วน"นายณัฐชัย"นั้น มองว่าความรุนแรง ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการทำร้ายร่างกาย วาจา เท่านั้น แต่บางครั้งกฎหมายก็มีส่วนสร้างความรุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องมองทั้งในมิติด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง การตัดสินโดยการใช้มุมมองด้านนิติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวอาจนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ระหว่างการเสวนา ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้วิดีโอคอลมายังผู้ร่วมเวทีเสวนา พร้อมกับตั้งคำถามว่า เราจะช่วยกันหาจุดรักษาเยียวยา ต้นตอทัศนคติเชิงลบ ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ "นายองอาจ" มองว่า ต้องกลับไปมองที่จุดเริ่มต้น ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ดังนั้นการที่ทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะผู้มีบทบาทสำคัญ จึงต้องช่วยกันสร้างทัศนคติในเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้แม้จะใช้ระยะเวลานาน แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นทำ 

 

นางดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

 

ด้าน"นางดรุณวรรณ" มองว่าการจัดเสวนาในวันนี้ไม่ได้เป็นการตัดสินผิด-ถูก ให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปราศจากอคติ และมีพื้นฐานของความคิดที่ใช้องค์ความรู้เป็นตัวตัดสิน โดยไม่เลือกข้าง เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความแตกแยกจากการแบ่งคนออกจากกัน หากยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งกันและกันได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีเช่นนี้ก็เชื่อว่าจะลดลง และไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

logoline