svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ลุงตู่"กับตำแหน่งอลเวง หมวกคนละเบอร์ หยุดเหมือนไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่

28 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักกฎหมายชวนให้พินิจ เมื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอคำวินิจฉัยตามมาตรา 158 วรรค 4 แล้วความเป็น"รัฐมนนตรี"ไม่ได้ถูกพักการปฏิบัติไปด้วยหรือ ดูช่างอลเวงเหลือเกิน กม.รธน.ไทย

 

ใคร่ชวนให้ติดตามเสียเหลือเกิน ภายหลัง "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเสียงข้างมากให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ระหว่างนี้ จึงมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯปฏิบัติราชการรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน 

 

แต่ทว่า แม้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว แต่พล.อ.ประยุทธ์  ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯก็ยังดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม  เหมือนตามคำกล่าวของวิษณุ เครืองาม รองนายกฯมือกฎหมายรัฐบาลที่ระบุว่า  แม้พล.อ.ประยุุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ท่านยังดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม เข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงกลาโหม

 

อีกประการ  "พล.อ.ประยุทธ์" ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาไมได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหมไปด้วย ดังภาพปรากฎเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการเดินทางเข้าไปเซ็นเอกสาร ในกระทรวงกลาโหม 

 

การเข้ากระทรวง ไปทำหน้าที่ รมว.กลาโหม ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะ "ดอด" เข้าไป หรือไปแบบ "เปิดเผยอลังการ" ก็ตาม ทำให้เกิดคำถามว่า ท่านยังปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้หรือไม่ เพราะท่านถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว แม้จะเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีก็ตาม "แต่นายกฯ คือ รัฐมนตรีคนหนึ่ง" 

 

กูรูกฎหมาย แนะให้เปิดดูรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 2 

 

มาตรา 170 บัญญัติถึงความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ด้วยเรื่องใดบ้าง ก็มีทั้งหมด 6 ประการ เช่น ตาย ลาออก ฯลฯ 

 

วรรค 2 ใช้ข้อความแบบนี้ "นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย" 

 

จะเห็นได้ว่า "ความเป็นนายกรัฐมนตรี" ผูกโยงจนเหมือนเป็นสิ่งเดียวกับ “ความเป็นรัฐมนตรี” เพราะนายกรัฐมนตรี คือ รัฐมนตรีคนหนึ่ง 

 

กูรูกฎหมาย บอกว่า เมื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรอคำวินิจฉัยตามมาตรา 158 วรรค 4 แล้วความเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ถูกพักการปฏิบัติไปด้วยหรือ

 

"ลุงตู่"กับตำแหน่งอลเวง หมวกคนละเบอร์ หยุดเหมือนไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่

 

เรื่องนี้น่าขุดค้นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าแบบนี้ รัฐบาลชุดต่อๆ ไป ตั้งนายกฯควบ 3 ตำแหน่ง / โดนถอด หรือถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป 1 ตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง ก็ยังทำงานได้ เข้าประชุม ครม.ได้ แบบนั้นหรือ / เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ 

 

เป็นประเด็นที่น่าคิดจริงๆ !!!!

 

เรื่องนี้โยงไปถึงแนวทางการต่อสู้คดีของ "พล.อ.ประยุทธ์" ด้วย 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ทีมข่าวเนชั่นทีวีออนไลน์ได้หยิบกข้อสงสัยดังกล่าวนำเสนอผ่านรายการ "ข่าวข้นคนข่าว"  เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดี  "ปม 8 ปีนายก" ของ พล.อ.ประยุทธ์ 2 แนวทาง ซึ่งทีมกฎหมายยกร่างคำชี้แจงเอาไว้แล้ว 

 

อ่านประกอบ >>>

ชำแหละคำชี้แจงทีมกม.นายกฯหักล้างปมนายกฯ 8 ปี 

 

เมื่อพิจารณาแนวทางการต่อสู้คดีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูมีเหตุผล / แต่  "กูรูกฎหมาย"  หยิบยกประเด็นขึ้นมาโต้แย้งเช่นกัน ดังนี้ 

 

-การที่ พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า ตนได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ จาก สนช. ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร ตามที่บัญญัติในมาตรา 158 นั้น 

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 263 เขียนไว้ชัด บัญญัติรับรองให้ สนช. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และรับรองสถานะของ สนช. ให้เป็นเหมือน ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ต่างกับการรับรองสถานะ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 60 บังคับใช้ 

 

"กูรูกฎหมาย"ท่านนี้ จริงๆ แล้วคือบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กรธ. หรือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ด้วย

 

ท่านบอกว่า มาตรา 170 วรรค 2 ที่อธิบายไว้เมื่อสักครู่ เป็นตัวล็อกเอาไว้แล้วว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามนัยของมาตรา 158 วรรค 4 ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลงด้วย ฉะนั้นจะไปนั่งเป็น รมว.กลาโหม ต่อ หรือเป็นรักษาการ รมว.กลาโหม ก็คงไม่ได้ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 158 วรรค 4 ยกร่างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นนายกฯ หรือครองอำนาจนานเกินไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ฉะนั้นนายกฯคนก่อนๆ ก็จะต้องได้รับผลทั้งหมด 

 

"ลุงตู่"กับตำแหน่งอลเวง หมวกคนละเบอร์ หยุดเหมือนไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่

เป็นที่ทราบกันอย่างไม่เป็นทางการว่า มาตรา 158 วรรค 4 เขียนไว้เพื่อสกัด "คนแดนไกล" ไม่ให้หวนกลับมามีอำนาจอีก ไม่ได้เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เลย เพราะไม่มีใครคิดว่า "บิ๊กตู่จะอยู่นาน" เพราะมีเพลง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...

 

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าอ่านความเห็น ของ "อ.มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธาน กรธ. และ อ.สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธาน กรธ. ในเอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.61 ที่เผยแพร่กันอย่างกว้างขวางก่อนหน้านี้ และมีฝ่ายเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ โต้ว่าเป็นแค่ความเห็น ไม่ใช่มติ

 

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ความเห็นแบบนี้ ใช้ภาษาคนรุ่นใหม่ต้องบอก เป็น "ความเห็น ออร์แกนิก" ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่ง เป็นความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญจริง / น่าเชื่อถือกว่ามติที่ออกมาภายหลังเสียอีก 

 

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ถ้านายกฯที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามนัยแห่งมาตรา 158 วรรค 4 เท่ากับว่าเรากำลังให้เกียรติและให้สิทธิ "คนยึดอำนาจเข้ามา" มากกว่านายกฯที่มาตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นแบบนี้บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร เพราะประชาธิปไตยไม่ได้สำคัญจริง 

 

เหตุผลเหล่านี้แม้เป็นเชิงนามธรรม แต่เป็นเหตุผลอุดมคติ และเป็นเหตุผลเชิงอุดมการณ์ ที่หากจะโต้แย้ง ก็ต้องยอมรับหาเหตุผลมาโต้ได้ยากจริงๆ 

 

ข่าวล่าสุดจากตลาดพาหุรัด ใกล้ๆ อาคารศาลรัฐธรรมนูญ แว่วว่าตุลาการจะใช้เวลาพิจารณาราวๆ 2 เดือน และข่าวล่าสุดยืนยันว่า แนวโน้มทิศทางที่ออกมา ยังไม่ค่อยเป็นบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ สักเท่าไหร่นัก... "ณ ตอนนี้" 

logoline