svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ชำแหละคำชี้แจง"ทีมกม.นายกฯ" หักล้าง ปมชี้ขาด "นายก 8 ปี " ศาลรธน. จบแบบไหน

28 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เผยข้อต่อสู้ทางกฎหมายตามรธน. ปม"นายก 8 ปี" ทีมกฎหมายของ "พล.อ.ประยุทธ์" ร่างคำชี้แจงไว้เรียบร้อยหมดแล้ว จับตาประเด็นหักล้างข้อกล่าวหาของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ยื่นคำร้องเอาไว้ 2 ประเด็นหลักๆ

 

หลังจาก"ศาลรัฐธรรนูญ" มีมติเสียงข้างมากให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐนตรี "หยุดปฏิบัติหน้าที่" จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปมพิจารณา "นายก 8 ปี" พร้อมกับ ให้ผู้ถูกร้อง คือ "พล.อ.ประยุทธ์" ทำคำชี้แจงมายังศาลรธน. ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และหากไม่ชี้แจงภายในระยะเวลากำหนด จะถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจชี้แจงข้อกล่าวหา

 

ท่ามกลางข้อถกเถียงกันว่า ห้วงเวลานับจากนี้ ตั้งแต่ฝ่ายผู้ถูกร้อง ทำคำชี้แจง และศาลรธน.พิจารณา จะใช้เวลายาวนานแค่ไหน แม้มีการประเมินกันว่าน่าจะจบภายในเดือนกันยายนก็ตาม 

 

เงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้ "จบเร็ว" คือ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งคำชี้แจงไปที่ศาลแบบเร็ว และชัดเจน เพื่อให้ศาลวินิจฉัยได้ง่าย 

 

 

วงในทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า  ขณะนี้ ทีมกฎหมายของ "พล.อ.ประยุทธ์" ร่างคำชี้แจงไว้เรียบร้อยหมดแล้ว มีประเด็นหักล้างข้อกล่าวหาของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ยื่นคำร้องเอาไว้ 2 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน คือ 

 

1.ห้วงปี 2557-2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากสถานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร


2.ห้วงปี 2557-2562 ไม่มีรายชื่อนายกฯที่เสนอโดยพรรคการเมือง จึงนำมานับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไม่ได้ 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

บทบัญญัติที่บังคับเรื่องขั้นตอนการเลือกนายกฯ คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 158 กับ 159  

 

158 นอกจากวรรค 4 เรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ยังมีบทบัญญัติให้นายกฯ ต้องแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร 

 

159 สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตามมาตรา 88 

 

***ทั้ง 2 ประเด็นนี้ ตอน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ รอบแรก ปี 57 ไม่ได้รับเลือก หรือถูกเลือกจากเงื่อนไขนี้ 

 

ศึกษาพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ประกอบ

 

***จุดหักเห ก็คือ ฝ่ายที่เชื่อว่า "พล.อ.ประยุทธ์" นั่งนายกฯมาครบ 8 ปี ตามนัยแห่งมาตรา 158 วรรค 4 แล้ว บอกว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 รับรอง ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ให้เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงต้องนับระยะเวลาต่อเนื่องกัน / และสนช. ในปี 57 ก็ทำหน้าที่เหมือนสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญ บทเฉพาะกาล มาตรา 264 ไม่ได้ยกเว้นมาตรา 158 เอาไว้ 

 

จากจุดนี้ ฝ่ายที่หนุน "พล.อ.ประยุทธ์" และทีมกฎหมายของนายกฯมองว่า มาตรา 158 ไม่ใช่คุณสมบัติ จึงไม่ต้องยกเว้นในมาตรา 264 และการไม่ยกเว้นไว้ ก็แปลว่าต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด คือนายกฯต้องตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร และเลือกจากบัญชีแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอ  ซึ่งปี 57 ไม่มี จึงนับต่อกันไม่ได้ 

 

รอลุ้นคำวินิจฉัยด้วยใจระทึก!!!

logoline