svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ลงมติจี้เมียนมายุติความรุนแรง

22 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น ลงมติเกี่ยวกับเมียนมาครั้งแรกในรอบ 74 ปี เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง และปล่อยตัวอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน ที่ถูกยึดอำนาจเมื่อต้นปีที่แล้ว

ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงคะแนนสนับสนุนข้อมติเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาที่ยื่นเสนอโดยอังกฤษด้วยเสียง 12 เสียงในการประชุมเมื่อวันพุธ  โดยอีก 3 ชาติ ที่เหลือ ได้แก่ จีน อินเดีย และรัสเซีย งดออกเสียง

   

ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 2669 ว่าด้วยเมียนมา มีเนื้อหาแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการขยายเวลาบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ออกโดยกองทัพนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว  และเรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรง ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและทันทีเพื่อปฏิบัติตามแผนสันติภาพ ที่เมียนมาตกลงร่วมกับอาเซียน รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดทันที ซึ่งรวมถึง อองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจ และประธานาธิบดีวิน มินต์

 

นอกจากนี้ข้อมติยังเรียกร้องให้เมียนมาคงรักษาสถาบันและกระบวนการทางประชาธิปไตย  และแสวงหาการเจรจาอย่างสร้างสรรค์และการสร้างความปรองดองตามเจตนารมณ์และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

 

 

กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลของซูจีในเดือน ก.พ. 2564  จับกุมเธอและเจ้าหน้าที่อีกหลายคน  และปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและผู้เห็นต่างด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,400 ราย และผู้ถูกจับกุมอีกกว่า 16,000 คน

    

บาร์บารา วูดเวิร์ค เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็น กล่าว่า ที่ประชุมส่งสารที่ชัดเจนถึงกองทัพเมียนมา  และคาดหวังให้เมียนมาปฏิบัติตามมตินี้อย่างครบถ้วน

    

ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงครั้งนี้เป็นข้อมติเกี่ยวกับเมียนมาครั้งแรกในรอบ 74 ปี นับจากคณะมนตรีความมั่นคงมีมติในปี 2491 เสนอให้สมัชชาใหญ่ยูเอ็นรับพม่า ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมียนมาเข้าเป็นสมาชิก

 

แต่จาง จุน เอกอัครราชทูตจีน กล่าวต่อที่ประชุมว่า จีนเชื่อว่า คณะมนตรีความมั่นคงควรออกเป็นแถลงการณ์ของประธานคณะมนตรีความมั่นคง ไม่ใช่ข้อมติ  และเนื้อหาของข้อมติขาดความสมดุล  พร้อมกับย้ำจุดยืนของจีนว่า ไม่มีวิธีรวดเร็วแก้ไขปัญหาเมียนมา และยิ่งไม่มีทางแก้ไขจากภายนอก ท้ายที่สุดแล้วปัญหานี้ต้องแก้ไขด้วยเมียนมาเอง

   

และวาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตของรัสเซีย บอกว่า สถานการณ์ในเมียนมาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ จึงเชื่อว่า ไม่ควรจัดการเรื่องนี้ในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น

 

logoline