svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

เสวนา "ฮาวทู ปั้น กรุงเทพมหานครเมืองแห่งหนัง"

23 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เสวนา "ฮาวทู ปั้น กรุงเทพมหานครเมืองแห่งหนัง" ที่เปิดโอกาสให้คนในวงการภาพยนตร์ได้บอกเล่าถึงการเผชิญปัญหาในการผลิตหนัง และนโยบายที่ยังไม่พอต่อการพัฒนาหนังไทย

กรุงเทพมหานครมักจะถูกเรียกว่าเป็นเมืองแห่ง "โอกาส" มีผู้คนจากหลากหลายอาชีพกำลังตามหา "โอกาส" เหล่านั้นของตนเอง รวมถึงผู้คนในวงการภาพยนตร์ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จำนวนมาก ยังคงเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือเรื่องการจัดการที่เป็นระบบ และแม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาภาครัฐจะออกนโยบายมาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น นโยบายส่งเสริม Soft Power ที่เรียกว่า "5F" ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ประกอบด้วย อาหาร (Food), แฟชั่น (Fashion), ศิลปะการต่อสู้มวยไทย (Fighting), เทศกาลต่าง ๆ (Festivals), และภาพยนตร์ (Films) แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนออกมาบอกว่า นโยบายเหล่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะพัฒนา "หนังไทย" ทั้งระบบได้ 

ด้วยเหตุนี้กรุงเทพมหานคร นำโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงได้จัดวงเสวนา "ฮาว ทู ปั้น กรุงเทพ เมืองแห่งหนัง" ขึ้นมา ซึ่งอยู่ภายใต้งาน "เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566" (Bangkok Film Festival) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารเชิงนโยบาย และคนทำหนังจริง ๆ เข้ามาร่วมพูดคุย ได้แก่ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ,คุณพรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ , คุณวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ฟ้าทะลายโจร , หมานคร , เปนชู้กับผี  และ คุณนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เพื่อที่จะหาข้อสรุปที่ว่า เราจะทำกรุงเทพมหาหนครให้เป็น "เมืองแห่งหนัง" ที่แท้จริงได้อย่างไร

เสวนา "ฮาวทู ปั้น กรุงเทพมหานครเมืองแห่งหนัง"

เพราะไม่ใช่สิ่ง "จำเป็น" อุตสาหกรรมภาพยนต์จึงกระทบเป็นอันดับแรก 

เมื่อถูกถามว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนในวงวงการภาพยนตร์ปรับตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 อย่างไร คุณนฤมลได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า "อุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงโดนแรกสุด เพราะว่าเราไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน" โดยโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงที่คุณนฤมลเป็นเจ้าของ เป็นที่แรก ๆ ที่ต้องปิดตัวลง 

ในทางกลับกันในขณะที่มาตรการต่าง ๆ ถูกผ่อนคลาย หลายธุรกิจเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ศาลาเฉลิมกรุงกลับยังไม่สามารถกลับมาทำการแสดงเหมือนเดิมได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุที่ว่าการแสดงหลักเป็นของที่นี่คือ "โขน" ซึ่งผู้แสดงต้องใส่หัวโขนร่วมกัน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดต่อโรค ศาลาเฉลิมกรุงจึงปรับตัวด้วยการปรับสัดส่วนการแสดงใหม่ โดยเอาการแสดงอื่นมาแสดงเป็นหลักแทน 

ในส่วนโรงภาพยนตร์ ในปีแรกของการระบาดเป็นที่ทราบกันว่าธุรกิจนี้รายได้หายไป 100% เพราะต้องหยุดให้บริการ ในขณะเดียวกัน "คนทำหนัง" ก็ต้องหยุดทำงาน ขาดรายได้ หรือบางคนก็ต้องโยกย้ายไปทำในสายงานอื่น ๆ ที่ยังพอทำได้ เช่น คุณวิศิษฎ์ก็ได้มีโอกาสไปทำในแพลตฟอร์ม Streaming ในช่วงที่โรงไม่สามารถฉายได้ เรียกว่าเป็นช่วงที่คนทำ "จอใหญ่" อาจจะต้องพึ่งพา "จอเล็ก" ไปเสียก่อน 

จวบจนถึงปัจจุบัน คุณพรชัยได้แสดงให้เห็นว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและเทศก็ยังไม่ได้ฟื้นคืนมา 100% แต่เพิ่มกลับมาแค่ 70% เท่านั้น 

เสวนา "ฮาวทู ปั้น กรุงเทพมหานครเมืองแห่งหนัง"

เมืองแห่งหนังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบบราชการเก่า

คุณวีระศักดิ์ได้พูดอย่างน่าสนใจในการไว้ว่า ปัญหาของวงการหนังไทยก็คือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐฯ เพราะที่ผ่านมาเหมือนว่าคนในวงการภาพยนตร์ไทยต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันเอง อีกทั้งขั้นตอนต่าง ๆ ในการที่จะขอความอนุเคราะห์เอื้ออำนวยจากรัฐก็ยุ่งยากไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะขอใช้งานสถานที่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร 

การจะขอถ่ายทำในที่ใดสักที่หนึ่งบางครั้งอาจต้องติดต่อถึง 7 หน่วยงาน ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากการไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ และ ที่น่ากลัวที่สุดคือการทุจริตติดสินบนใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะสามารถใช้งานสถานที่ได้เร็วขึ้น คุณวิศิษฎ์เคยเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่เคยยกกองไปถึงหน้าสถานที่พร้อมถ่ายทำ แต่ไม่สามารถเข้าสถานที่นั้นได้เพราะ "จดหมาย" จากทางราชการยังมาไม่ถึง อีกทั้งการจะเขียนจดหมายขอใช้งานสถานที่ถ่ายทำสักที่หนึ่ง ต้องมีรูปแบบที่ซ้ำซ้อน ยุ่งยาก สร้างความลำบากให้คนทำหนังซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานในระบบราชการ 

ปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อกองถ่าย คือ การบินอากาศยานไร้คนขับหรือที่เรียกกันว่า "โดรน" ในปัจจุบันในกรุงเทพมหานครยังไม่ได้มีแผนที่ชัดเจนว่า ตรงไหนสามารถบินโดรนได้และไม่ได้บ้าง เช่นเดียวกันการจะบินโดรนในบางสถานที่ต้องขอมากกว่า 4 -5 หน่วยงาน ด้วยเหตุนี้คุณวีระศักดิ์จึงได้ข้อเสนอแนะว่า กรุงเทพมหานครควรมีหน่วยงานกลางขึ้นมาหน่วยงานหนึ่ง เพื่อทำแผนที่เกี่ยวกับพื้นที่ที่สามารถบินโดรนได้ และทำหน้าที่ส่งคำขอของกองถ่ายไปยังหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมกับกองถ่ายเพื่อนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาพื้นที่ที่กองถ่ายนั้น ๆ ไปใช้งาน การทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด Story และทำให้ประชาชนทั่วไปรู้ว่าเงินที่ใช้ในการการซ่อมแซมหรือบูรณะบำรุงพื้นที่เหล่านั้น คือเงินที่มาจากกองถ่ายเอง 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ "ใบเสร็จ" การขอใช้สถานที่หรือคิดค่าธรรมเนียมควรมี "ใบเสร็จ" ที่ชัดเจนเสมอ มีกติกาชัดเจนเพื่อป้องกันการทุจริต มีการเขียนบอกไว้ว่าเงินตรงนี่จะถูกไปพัฒนาหรือทำอะไรต่อ สิ่งนี้ยังคงทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการถ่ายทำสถานที่นั้น ๆ เพราะรู้ว่าเงินจากกองถ่ายเหล่านี้จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่ในอนาคต 

ก่อนจะเป็น Movie City (เมืองแห่งภาพยนตร์) ต้องมี Movie Culture (วัฒนธรรมการดูภาพยนตร์) เสียก่อน 

คุณพรชัยได้แสดงข้อคิดเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า ประเทศไทยไม่เหมือนอินเดีย ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่มีวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรง ถ้าเราอยากทำให้กรุงเทพเป็น Movie City เราต้องสร้างบรรยากาศการดูหนังขึ้นมาเสียก่อน โดยคุณพรชัยได้เปรียบเทียบกับเมือง Los Angeles ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Hollywood ในอเมริกาไว้ว่า ใน LA บรรยากาศทั้งหมดจะทำให้ผู้คนอยากดูหนัง มีการโมษณาภาพยนต์ตามสื่อและสถานที่ต่าง ๆ เช่น ป้าย รถสาธารณะ อาคาร แต่ในทางกลับกันการจะสร้าง บรรยากาศของภาพยนตร์ ในกรุงเทพนั้นยากมาก เนื่องด้วยการโมษณาตามป้ายหรือรถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส มีราคาค่อนข้างสูงมากทั้งยังต้องจ่ายค่าภาษีเพิ่มด้วย 

สำหรับป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเปลี่ยนได้เองอัติโนมัติได้ คุณพรชัยได้ให้ข้อมูลไว้ว่าการคำนวนค่าใช้จ่ายของการโมษณาผ่านป้ายนั้นนับจากจำนวนครั้งที่เปลี่ยน

 

"สมมุติว่าป้ายนี้ ค่าผลิตประมาณซัก 100,000 ค่าภาษีประมาณซัก 50,000 แล้วมีการเปลี่ยนป้าย 10 ครั้ง เจ้าของโมษณาจะต้องเสียเงินจากราคาการเปลี่ยนป้ายคูณกับค่าภาษี (50,000 x 10) ให้กับ กทม."


กรุงเทพต้องมองภาพยนตร์ให้เป็นอุตสาหกรรมจริง ๆ 

คุณวิศิษฎ์พูดไว้ว่า ภาพยนตร์ไม่ได้ถูกมองเป็นอุตสาหกรรมจริง ๆ ในปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ "มีสถานศึกษา" เพื่อภาพยนตร์อย่างแท้จริงเหมือนในต่างประเทศเช่นจีน มีเป็นเพียงแค่ในระดับของคณะหรือสาขาวิชาในมหาวิทยาลัย ยิ่งกว่านั้นบุคลากรของเรายังขาดความรู้ความสามารถอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การนำนักแสดงมาแสดงในภาพยนตร์ยังเป็นการตัดสินจากหน้าตามากกว่าความสามารถ ยังเป็นการสุ่มคนที่หน้าตาดีตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มาแสดง ซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะไม่มีทักษะที่ดีเท่าที่ควร 

ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่เกล่ามาข้างต้นนี้ สุดท้ายนี้แล้ว การจะสร้างเมืองเพื่อ "คนหนัง" ต้องไม่ใช่แค่ให้ "หนังช่วยเมือง" หรือ "เมืองต้องช่วยหนัง" แต่ต้อง "ช่วยกัน" เพื่อที่ยกระดับเมืองนี้ให้เป็น "เมืองแห่งหนัง" ที่แท้จริง

สำหรับผู้ที่สนใจและชื่นชอบภาพยนตร์สามารถเดินทางมาร่วมงาน "เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566" (Bangkok Film Festival) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

logoline