svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สศช.หวั่นผู้สูงอายุ "หนี้ท่วม-ค่าครองชีพพุ่ง"

14 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศช.เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/65 ทะลุ 14.76 ล้านล้านบาท ห่วงสินเชื่อยานยนต์ยอดผิดนัดชำระหนี้ขยายตัวสูง ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุหนี้ท่วมจากผลกระทบโควิด-ค่าครองชีพพุ่ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เปิดเผยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2565ว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/65 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว  3.5% ลดลงจาก 3.7%  ของไตรมาสที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่ปรับลดลงเป็น  88.2% จากไตรมาสก่อน ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของการก่อหนี้ของครัวเรือน จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ด้านคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของสถาบันการเงิน

โดยในไตรมาสสาม ปี 2565 สัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.62 % อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2565 ยังพบว่า หนี้เสียขยายตัวในระดับสูง ในกลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของ COVID-19

ทั้งนี้ในระยะถัดไป มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่ 1.ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 2. ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ 3. อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สศช.หวั่นผู้สูงอายุ \"หนี้ท่วม-ค่าครองชีพพุ่ง\"

ดังนั้น สถานการณ์ข้างต้นนำมาซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ 1. การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสีย เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

2. การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาอุทกภัย และ3. การมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

สำหรับหนี้เสียครัวเรือนเพิ่มจากระดับ 2.7 ล้านบัญชี ในไตรมาสแรกปี 2565 มาเป็น 4.3 ล้านบัญชีในไตรมาส 2 ส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล  

ดังนั้นยังมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอยู่ หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะเจอผลกระทบโควิดอย่างเดียว แต่มีเรื่องเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง ราคาแก๊ส ราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นมาด้วย แน่นอนว่าตรงนี้จะยังมีผลกระทบอยู่

ส่วนในปีหน้า เศรษฐกิจโลกก็คงชะลอ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคธุรกิจ ก็คงต้องบริหารความเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยภาคการท่องเที่ยวปีหน้าน่าจะไปได้ดีอยู่ ส่วนภาคส่งออก คงต้องมาดูรายอุตสาหกรรม ตอนนี้ยังตอบได้ไม่ชัด ว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ อุตสาหกรรมไหนจะกระทบบ้าง

อย่างไรก็ตาม ไม่เกินเดือน ธ.ค. นี้ รัฐบาลจะมีมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมา ที่จะเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง

logoline