svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กูรูชำแหละ"ค่าแรง" 600 บาท "ระเบิดเวลา" เศรษฐกิจไทย

11 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ในปี 2570 หลังพรรคเพื่อไทยนำมาเป็นไฮไลท์ในการหาเสียงทางการเมือง ซึ่งเป็นปมร้อนโยนระเบิดเวลาให้กับเจ้าของกิจการมากน้อยแค่ไหน ! ตามไปดูรายละเอียดกันเลย

เป็นกระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งภาคการเมืองและภาคธุรกิจ หลังจากน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และ เงินเดือนปริญญาตรี  25,000 บาท  ภายในปี  2570 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันไม่ขาดสายถึงขั้นนักธุรกิจ นักวิชาการ ออกมาตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้หรือ?   

เพราะสิ่งที่พูดออกมาเหมือนเป็นการโยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ    ซึ่งการหาเสียงแบบนี้เป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน   โดยส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศที่จะย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยไม่กล้าเข้ามาลงทุน อาจนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจเสียหายทั้งระบบ จนเป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาการเหมาแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นหลักหรือไม่  !

หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้คนไทยตกงาน  เพราะการขึ้นค่าแรงที่แพงมาก จะทำให้ฐานการผลิตของประเทศไทย สั่นคลอน ดังนั้นควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดให้ผู้ประกอบการเป็นผู้พิจารณาดีกว่า และขอให้คำนึงว่าอย่าพูดอะไรที่คิด แต่ว่าหาเสียงเพียงอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและผลกระทบที่ตามมาด้วยว่าจะมากน้อยแค่ไหน  

เห็นได้จากนักธุรกิจหลายคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเริ่มจาก "พจน์ อร่ามวัฒนานนท์"  รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกมาประกาศอย่างชัดเจน  ไม่สนับสนุนให้ทุกพรรคการเมืองนำเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงมาหาเสียงในทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมหาภาคที่เกี่ยวข้อง กระทบต่อทุกภาคส่วน เพราะค่าแรง คือต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ 

หากในอนาคตปรับขึ้นค่าแรงตามที่กล่าวไว้ เชื่อว่าผู้ประกอบการจะลดการใช้แรงงานคน เปลี่ยนมาเป็น AI หรือเครื่องจักรแทนทั้งหมด สุดท้ายผลลัพธ์ก็จะกลับมากระทบแรงงานไทย หรือภาคประชาชนในที่สุด ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศจะไม่อยากเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากปัจจัยค่าแรงที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบอัตราค่าแรงของไทยในปัจจุบันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมา ถือว่าค่าแรงของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าอยู่แล้ว  และก่อนจะมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรมีนโยบายยกระดับสวัสดิการแรงงานให้ดียิ่งขึ้นจึงจะเหมาะสมกว่า เช่น ยกระดับสวัสดิการจากประกันสังคมให้กับแรงงานไทย 

“เมื่อปี 54 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้โครงสร้างค่าแรงบิดเบี้ยวและกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานอย่างมหาศาล การหาเสียงโดยไม่มีตรรกะ ไม่มีหลักการและวิชาการรองรับเป็นไปไม่ได้ อย่าลืมว่าทุกจังหวัดมีสภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันเมื่อใดพังทั้งประเทศ” 

สอดรับกับ "สนั่น อังอุบลกุล"   ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่มองว่า การขึ้นค่าแรงระดับดังกล่าวทำให้ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น 70%  และอาจแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องหยุดหรือเลิกกิจการ ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายอาจต้องย้ายฐานการผลิต    

ฝั่ง "วรวุฒิ กาญจนกูล" นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มองว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงอยู่แล้ว จากราคาพลังงาน เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการทำธุรกิจไม่ได้มีกำไรอะไรมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยพยายามประคองตัวกันอยู่ เพราะไม่รู้อีกกี่ปีเศรษฐกิจถึงจะดีขึ้นอย่างเต็มที่

โดยเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบต่อค่าก่อสร้างและราคาบ้าน โดยค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 353 บาทต่อวัน มีผลต่องานก่อสร้างและราคาบ้านประมาณ 2% ถ้าค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 250 บาท เท่ากับปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จะส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้างและราคาบ้านประมาณ 15%   ซึ่งธุรกิจบางรายที่รับภาระไม่ไหวอาจเลิกกิจการเพราะกระทบเป็นลูกโซ่  

ด้าน "ธนิต โสรัตน์" รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) มองว่า  นโยบายดังกล่าวทำลายโครงสร้างคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้าง ที่เป็นคณะพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความสามารถของนายจ้าง และลูกจ้าง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาวันละ 300 บาท หรือปรับขึ้นทันทีประมาณ 88% กระทบต่ออุตสาห กรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานสูง เช่น ภาคเกษตร ประมง รวมถึง เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนจากแรงงานที่สูงขึ้นได้ มีการปิดตัวหรือย้ายฐานผลิตไปในต่างประเทศค่อนข้างมาก 

"เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะหันมาเล่นนโยบายประชานิยมในลักษณะนี้ออกมาอีกดังนั้น นายจ้างเองต้องมองเรื่องนี้ให้ออก และเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าว่าจะรับไหวหรือไม่"

หันมาดูมุมองนักเศรษฐศาสตร์อย่าง "เชาว์ เก่งชน"  กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีทั้งรัฐ นายจ้าง และลูกจ้างทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว โดยการขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย เพราะถ้านายจ้างไม่ไหวลูกจ้างก็จะแย่ นอกจากนี้การจ่ายค่าแรงในบางสาขาวิชาชีพก็สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 

ขณะที่ "อมรเทพ จาวะลา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เห็นว่า  จากข้อมูลในอดีตการปรับขึ้นค่าแรงในปี 56 นำไปสู่เงินเฟ้อดีดปรับตัวสูงขึ้นต้นทุนการผลิตพุ่ง สินค้าราคาแพง แต่ช่วงนั้นเงินเฟ้อต่ำ

ขณะที่ปัจจุบันเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งหากดูตัวเลขแรงงานไทยมีประมาณ 40 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประมาณ 15 ล้านกว่าคน แรงงานนอกระบบ 20 กว่าล้านคน

ดังนั้นถ้าขึ้นค่าแรงกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เพียงกลุ่มหนึ่งของประเทศ   แต่ประเด็นสำคัญคือเงินเฟ้อ ในอนาคตไม่ใช่ 2% แต่อาจขึ้นเป็น 3% ทำให้ค่าครองชีพสูง  ส่วนปัญหาที่ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนไทยเพราะขาดการพัฒนาฝีมือแรงงาน  เทคโนโลยี ไอที และภาษา นอกจากนี้เราเจอสังคมผู้สูงอายุไม่สามารถหาคนทำงานเข้าระบบได้ ถ้าประเทศมีศักยภาพพร้อม ก็จะทำให้จีดีพีโต 3-3.5% ได้ 

ปิดท้าย "จิติพล พฤกษาเมธานันท์" ผู้อำนวยการอาวุโว บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) ที่มองว่า  การขึ้นค่าแรงมีผล 2 ด้านทำให้คนไม่เก่งขยับขึ้นมารับจ้างสูง และคนไม่พัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง แต่กลับได้รับค่าจ้างเพิ่ม   ซึ่งอยากให้ปล่อยเป็นไปตามกลไกลตลาดมากกว่าจะได้รู้ว่าคนไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เพื่อพัฒนาให้ถูกจุด  

ส่วนการย้ายฐานการผลิตจากค่าแรงสูงไม่กังวล  แต่ปัญหาของเราคือไม่มีแผนชัดเจนว่า จะส่งเสริมอุตสาห กรรมไหนให้โดดเด่น   ซึ่งเห็นว่าไทยมีจุดเด่นด้านโลจิสติกส์ รัฐต้องเลือกสนับสนุนธุรกิจที่เพิ่มมูลค่า และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี  เพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลก

การประกาศนโยบายการขึ้นค่าแรง เป็นโครงการประชานิยมที่จะได้พบเห็นกันได้ทุกครั้ง ในช่วงที่ขึ้นสังเวียนการเลือกตั้ง แต่เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้เห็นภาพว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจะมีอะไรบ้าง และะจะต้องวางแผนรับมืออย่างไร

นอกจากนี้อย่าลืมว่าการขึ้นค่าแรง มีผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น และสุดท้ายแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ต้องมาตกอยู่กับผู้บริโภค  

ส่วนธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านสั้น ไม่แข็งแรง แบกภาระไม่ไหวอาจต้องเลิกกิจการทำให้คนตกงานในระบบเพิ่มขึ้น  ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักดูให้ดีว่า การคำนึงแต่ผลได้ทางการเมือง ที่อาจต้องแลกมาด้วยผลเสียที่ใหญ่หลวงกว่าทางเศรษฐกิจ มันจะคุ้มกันหรือไม่...

 

 

logoline