svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค

21 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. โพสต์ข้อความ หลังประชุมวาระพิจารณาดีลทรูควบดีแทคมาราธอน 11 ชม. เปิดเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาตควบรวมทรู ดีแทค

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค

 

หลังจากที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หลังใช้เวลานาน 11 ชั่วโมง โดยมติ มติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศฉบับปี 2549) โดยนัยของผลตามข้อ  9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561) และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561

 

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค

อีกความเคลื่อนไหวโดยทางด้าน ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ได้โพสต์ข้อความ อธิบายถึงเหตุผลที่สงวนความเห็น และเป็นเสียงส่วนน้อยในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ

โดยมีใจความที่น่าสนใจระบุไว้ดังนี้  :

ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าว เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค

เหตุผลสนับสนุนมี 7 ข้อหลักดังต่อไปนี้

1) เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย  หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly

2) SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลก สรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น

ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาต ด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

3) การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจนั้น  ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่

4) ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ

5) การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม

6) การให้รวมธุรกิจ จะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นกรณีของต่างประเทศว่า เป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ

7) หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate)  รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น

โดยนายตอนท้าย นางสาวพิรงรอง ยังได้กล่าวขอบคุณ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ที่เป็นกสทช เสียงข้างน้อยอีก 1คน 

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค
อีกมุมมองจากนักกฎหมายที่น่าสนใจ 
ดร. รุจิระ  บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการ และนักกฎหมาย  กล่าวถึง กรณีการควบรวมธุรกิจของทรู-ดีแทค ที่ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เลื่อนลงมติออกไปเป็นวันที่ 20 ต.ค. 2565 นี้ ในมุมมองของนักกฎหมายว่า

การควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทคเป็นไปตามประกาศ กสทช. พ.ศ. 2561 อย่างชัดเจน คือเป็นการที่สองบริษัทควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B=C) ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า Amalgamation  ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ Take Over หรือควบคุมในผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่าย แต่เป็นการควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ 

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค

ตามประกาศจึงไม่ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกรณีแบบเดียวกับการควบรวม TOT และ CAT เป็น NT หรือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) แต่จะแตกต่างจากการกรณีเอไอเอสเข้าซื้อกิจการ 3BB  ที่เป็นไปตามประกาศ พ.ศ. 2549 เป็นกรณีแบบการเข้าซื้อหรือถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยถือว่าเป็นกรณีที่แตกต่างกับการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอย่างสิ้นเชิง จึงไม่สามารถนำกรณีเอไอเอสเข้าซื้อกิจการ 3BB  มาเปรียบเทียบกันได้

“การควบรวมทรู - ดีแทค ต้องยึดตามประกาศของกสทช. ปี 2561 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่ากสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวบกิจการ แต่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กสทช.ได้ให้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ 

และข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความเห็นและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานทางราชการ ทั้งสองหน่วยงานมีบทสรุปที่สอดคล้องกันว่า กสทช. ต้องพิจารณาตามประกาศของ กสทช. พ.ศ. 2561 ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่รับทราบเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวม” 

ดร. รุจิระ ยังกล่าวต่อว่า  ตามประกาศมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ปี 2561 ในข้อ 5 ได้ระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนก่อนการดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้ทางทรู-ดีแทคก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว 

ในขณะเดียวกัน หากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องราคาค่าบริการว่าจะสูงขึ้นหรือไม่หลังจากควบรวมกิจกา ในส่วนนี้ ตามประกาศข้อ 12 ที่ระบุว่า หากการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนี HHI มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ทาง กสทช. สามารถพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการคุมครองผู้บริโภค ด้วยการควบคุมราคาค่าบริการ และที่ผ่านมาค่าบริการโทรศัพท์มือถือได้ลดลงมาตลอด เมื่อเปรียบกับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงของภาวะเงินเฟ้อ และจะเห็นได้ว่าราคาของผู้ให้บริการยังห่างจากเพดานราคาที่กสทช.กำหนดไว้ 10% ซึ่งในกรณีหากราคาสูงกว่าที่กำหนดกสทช. ต้องพิจารณารับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

 

"ดังนั้นการควบรวม ทรู-ดีแทค จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีหากกสทช.ใช้อำนาจเกินกฎหมายในการพิจารณา ประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการ กสทช.ถือเป็น เจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงถูกควบคุมโดยกฎหมายนี้ ตามมาตรา 172 ที่ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ได้กำหนดความผิดไว้เช่นกันด้วย 

‘ศ.พิรงรอง’ เผยเหตุผล กสทช.เสียงข้างน้อย ‘ไม่อนุญาต' ควบรวมทรู ดีแทค

"บอร์ด กสทช. ชุดนี้ แตกต่างกับที่ผ่านมา ตรงที่ไม่มีนักกฎหมาย ถูกเลือกเข้ามาเป็น บอร์ด กสทช. เลย จึงไม่มีผู้ที่คอยชี้นำแนวทางที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องควบรวมนี้ ที่การพิจารณาประเด็นด้านข้อกฎหมายซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมาก” ดร. รุจิระ กล่าว

logoline