svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไขข้อเท็จจริงไฟฟ้าไทย แพงหรือไม่ ? ใครกำหนด

18 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท มีปริมาณรวมกันอยู่ที่ประมาณ 17,546 ล้านหน่วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย  ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทรวมกันที่ประมาณ 14,749 ล้านหน่วย โดยความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้นในลักษณะเช่นนี้มีความสอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตามรอบฤดูกาล กล่าวคือ เพิ่มขึ้นจาก 23.85 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม 2564 เป็น 28.34 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤษภาคม 2565

ในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทยมีรูปแบบของอัตราค่าไฟฟ้า 2 แบบหลักคือ 1. อัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งใช้ไฟมาก ก็ต้องจ่ายในอัตราที่แพงขึ้น ใช้น้อย จ่ายน้อย 2. อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ คือ ถ้าใช้ไฟในเวลาที่คนใช้ไฟพร้อมกันมาก ก็ต้องจ่ายในอัตราที่แพงขึ้น ใช้ไฟในเวลาที่คนใช้ไฟน้อย ก็จ่ายในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทก็จะปรับใช้รูปแบบอัตราไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานของตน อย่างไรก็ดีประเด็นอัตราการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าของไทยก็มักจะถูกมองว่า “แพง” และถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงทั้งในเวทีการเมือง นักวิชาการด้านพลังงานและระดับประชาชนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน แต่ทว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่?

เมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลาเดียวกัน ใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยที่ 3.62 บาท/ต่อหน่วย เป็นอันดับที่ 4 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 5.56, 4.76 และ 4.58 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ขณะที่ประเทศลาวมีอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียนที่ 1.25 บาทต่อหน่วย

 

ไขข้อเท็จจริงไฟฟ้าไทย แพงหรือไม่ ? ใครกำหนด

อย่างไรก็ดี ในเชิงการเปรียบเทียบความถูกหรือแพงของอัตราค่าไฟฟ้าของแต่ละประเทศที่เหมาะสมและเท่าเทียมนั้น คงไม่สามารถเปรียบเทียบผ่านอัตราค่าไฟฟ้าเพียงด้านเดียว เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมมีนโยบายในการบริหารพลังงาน ต้นทุนทางทรัพยากรที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเปรียบเทียบที่เหมาะสมและเท่าเทียมควรต้องสะท้อนให้เห็นถึงราคาที่มีความสัมพันธ์กับรายได้หรือกำลังซื้อของประชาชนควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน อาทิ ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (Reliability) ไปจนถึงความยั่งยืนทางด้านพลังงาน (Sustainability) เป็นต้น

ในเบื้องต้น การเปรียบเทียบความถูกหรือแพงของอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละประเทศที่เหมาะสมและ   เท่าเทียม คือ การเปรียบเทียบสัดส่วนกำลังซื้อหรือรายได้ต่อหัวประชากรต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า ประชากรในประเทศหนึ่ง ๆ สามารถใช้รายได้หนึ่งวันจ่ายค่าไฟได้กี่หน่วย หากสัดส่วนดังกล่าวมีค่ามาก หมายความว่า อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศนั้น “ถูก” สำหรับประชาชน ในทางกลับกันหากสัดส่วนดังกล่าวมีค่าต่ำ หมายความว่า อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศนั้น “แพง” สำหรับประชาชน โดยกำลังซื้อหรือรายได้ต่อหัวประชากร/วัน อ้างอิงจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว/วัน (GDP Per Capita/วัน)

เมื่อสะท้อนอันดับความถูกหรือแพงของอัตราค่าไฟฟ้าของแต่ละประเทศโดยการเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ต่อหัวประชากรต่ออัตราค่าไฟฟ้าในปี 2564 พบว่า กัมพูชามีค่าไฟฟ้าที่แพงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ 4.76 บาทต่อหน่วยซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 อีกทั้งประชากรมีรายได้เพียง 140 บาทต่อหัวต่อวัน

วัน ดังนั้นจะซื้อไฟฟ้าได้เพียง 29.5 หน่วยต่อวัน ขณะที่ประเทศสิงคโปร์แม้จะมีอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนที่ 5.56 บาทต่อหน่วย แต่ประชากรมีรายได้สูงถึง 6,412 บาทต่อหัวต่อวัน ดังนั้นจะซื้อไฟฟ้าได้สูงถึง 1,152.8 หน่วยต่อวัน จึงกลายเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าที่ถูกที่สุดในอาเซียน สำหรับประเทศไทยประชากรมีรายได้ 637 บาทต่อหัวต่อวัน สามารถซื้อไฟฟ้าได้ 176 หน่วยต่อวัน ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนที่อัตราค่าไฟฟ้าถูกกว่าประเทศไทยมีเพียงประเทศลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์เท่านั้น

อัตราค่าไฟฟ้าของไทยถูก-แพง ใครกำหนด

อัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการปรับตัวขึ้นลงอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญก็คือ เพื่อให้ราคาสะท้อนกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงนั่นเอง ประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักหรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ขณะที่ปัจจัยทางด้านราคาของเชื้อเพลิงดังกล่าวเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด กล่าวคือ ในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ราคาก๊าซธรรมชาติ มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในช่วงตั้งแต่ 180 บาท/ล้านบีทียู ไปจนสูงสุดที่ 331 บาท/ล้านบีทียู ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วงเวลานั้นปรับตัวขึ้นลงในช่วงตั้งแต่ 2.92 บาท/หน่วย จนแตะ 4 บาท/หน่วยเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2557 แต่หลังจากนั้นราคาก๊าซธรรมชาติ ได้มีการปรับตัวลดลงมาจนอยู่ในระดับต่ำกว่า 200 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าก็มีการปรับตัวลงมาในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงเวลาที่สถานการณ์ไม่ปรกติ ภาครัฐอาจชะลอการปรับอัตราค่าไฟฟ้า         เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างเช่น การชะลอการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โรค Covid-19 โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่              179 บาท/ล้านบีทียู และอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.63 บาท/หน่วย ในขณะที่เดือนเมษายน 2565 ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นเป็น 450 บาท/ล้านบีทียู หรือสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2563 ถึง 152% แต่อัตรา     ค่าไฟฟ้าขายปลีกปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.77 บาท/หน่วย หรือสูงขึ้นเพียงแค่ประมาณ 4% เท่านั้น

 

ไทยกับการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงานสะอาด

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เร่งนโยบายการลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไปและมีแนวโน้มที่ราคาจะสูงขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งในการก่อมลพิษทางอากาศ โดยหันไปเพิ่มการพึ่งพาการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ รวมถึงพลังงานชีวมวลให้มากขึ้น โดยปัจจุบันไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนประมาณ 14 % ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ นอกจากนี้การเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังช่วยลดการปล่อยมลพิษ โดยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีสัดส่วนสูงถึง 36% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานทั้งหมดจากทุกสาขาเศรษฐกิจ ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าลง และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว

ท่านที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้า สามารถดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ ได้ที่   https://tabsoft.co/3THkpde ร่วมตอบแบบสอบถามความเข้าใจเนื้อหาบทความและDashboardได้ที่ https://forms.gle/2HekfjG1vPJ2UqYu6

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- "ราคาน้ำมันของไทย" แพง!!...จริงหรือ?

- ไทยพร้อมแค่ไหน? กับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

logoline