svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

คนใช้ไอโฟนต้องอ่าน! ตร.ไซเบอร์ แนะวิธีตั้งค่ามือถือ ป้องกันลิงก์อันตราย-แอปฯดูดเงิน

29 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คนใช้ไอโฟนอ่านด่วน! ตำรวจไซเบอร์ ประชาสัมพันธ์วิธีการตั้งค่ามือถือ เพื่อป้องกันลิงก์อันตราย และแอปฯ ดูดเงิน เผย 2 ปีที่ผ่านมา มิจฉาชีพออนไลน์ระบาดหนัก มูลค่าความเสียหายกว่า 54,000 ล้านบาท

29 มกราคม 2567 พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) ประชาสัมพันธ์วิธีการตั้งค่าเพื่อปกป้อง iPhone จากลิงก์อันตราย และแอปพลิเคชันดูดเงิน ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ 2 ขั้นตอน ดังนี้

  • 1.อัปเดต ios เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด
  • 2.กดไปที่เมนูการตั้งค่า (Setting)
  • เลือกเมนูย่อย ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (Privacy & Security
  • เปิดใช้โหมดล็อคดาวน์ (Lockdown Mode)

คนใช้ไอโฟนต้องอ่าน! ตร.ไซเบอร์ แนะวิธีตั้งค่ามือถือ ป้องกันลิงก์อันตราย-แอปฯดูดเงิน

เมื่อเปิดการใช้งานโหมดล็อกดาวน์แล้ว อาจจะไม่สามารถใช้งานคุณสมบัติของแอปฯ บางส่วนได้ เช่น ไม่ปรากฏภาพพรีวิวจากลิงก์ต่างๆ หรือผู้ที่ไม่เคยติดต่อกันมาก่อน จะไม่สามารถใช้ FaceTime ติดต่อหาท่านได้

แต่การเปิดล็อกดาวน์โหมดจะช่วยให้ท่านปลอดภัยจากการเผลอไปกดลิงก์อันตราย, Spyware หรือ ถูกหลอกให้ติดตั้ง Configuration Profiles ซึ่งจะทำให้คนร้ายสามารถเข้าไปควบคุม iPhone ของท่านจากระยะไกลได้ ดังนั้น ท่านต้องตัดสินใจว่าจะเลือกความสะดวกในการใช้งาน หรือเลือกความปลอดภัย

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถปิดการใช้งานโหมดล็อกดาวน์ชั่วคราว เพื่อให้สามารถใช้งานคุณสมบัติบางส่วนของแอพพ์ต่างๆ ได้ แล้วค่อยกลับมาเปิดใช้งานโหมดล็อกดาวน์ในภายหลังได้เช่นกัน

พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าวอีกว่า ภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักให้ระวังมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีคดีมากกว่า 400,000 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกันมากกว่า 54,000 ล้านบาท และเฉพาะเดือนมกราคม ปีนี้ มียอดความเสียหายแล้วกว่า 100 ล้านบาท โดยมีการหลอกลวงสารพัดรูปแบบ ได้แก่

1. หลอกให้กู้เงิน หลอกให้ซื้อของ หรือ หลอกให้จองที่พักผ่านทางออนไลน์ โดยใช้เพจเฟซบุ๊กปลอม เลียนแบบเพจของจริง (เป็นคดีอันดับที่ 1 มีผู้แจ้งความผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด)

2. หลอกให้รัก แล้วชักชวนให้ทำภารกิจ หรือ หลอกให้ลงทุนในแอปฯ ของปลอม ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงมาก จนทำให้เกิดความโลภ โดยในระยะแรกอาจถอนเงินออกมาได้บางส่วน แต่ถ้าจะถอนเอาผลตอบแทนออกมาทั้งหมด จะต้องโอนเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ครบตามเงื่อนไข เช่น กรณีปลอมเพจบริษัท หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียง โดยหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุนต่างๆ (เป็นคดีที่มีความเสียหายมากที่สุด)

3. ส่ง SMS หรือ โทรศัพท์เข้ามาหลอกลวง เนื่องจากคนร้ายรู้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนและสามารถปลอมเบอร์โทรศัพท์ได้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ และใช้กลอุบายหลอกลวง เช่น

  • อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ โดยหลอกว่า "ท่านได้รับสิทธิ์เงินค่าไฟฟ้าคืน หรือ ให้ลงทะเบียนเพื่อเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าระบบดิจิทัลฟรี"
  • อ้างเป็นบริษัทจัดส่งพัสดุฯ โดยหลอกว่า "มีพัสดุส่งถึงท่าน แต่ได้รับความเสียหาย ทางบริษัทยินดีจะชดใช้เงินค่าเสียหายคืนให้"
  • อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง หรือ กบข. โดยหลอกว่า "ท่านมีสิทธิได้รับเงินบำนาญเพิ่มเติม"
  • อ้างตัวเป็นกรมสรรพากร โดยหลอกว่า "ท่านมีสิทธิ์ได้รับเงินภาษีคืน หรือ หลอกให้ชำระภาษีที่ค้างอยู่โดยเร็ว"
  • อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ กสทช. หรือ ธนาคาร โดยหลอกว่า "เงินในบัญชีธนาคารของท่านไปพัวพันกับการกระทำความผิด ต้องโอนเงินไปตรวจสอบความบริสุทธิ์"

หลังจากเหยื่อหลงเชื่อว่า เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ แล้ว คนร้ายจะหลอกให้เพิ่มเป็นเพื่อนในไลน์ของหน่วยงานปลอม แล้วหลอกให้กดลิงค์เพื่อติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน จากเว็บไซต์ปลอม

เพื่อเป็นการป้องกันภัยออนไลน์ โปรดจำไว้ว่า "หากเป็นเจ้าหน้าที่จริงแล้ว จะไม่มีการขอให้เพิ่มเพื่อนในไลน์ และไม่มีการขอให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์"

ส่วนการตรวจสอบสายเรียกเข้าว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่นั้น เบื้องต้นท่านสามารถตัดสายขณะกำลังพูดคุย เพื่อแกล้งทำสายหลุด แล้วทดลองโทรกลับทันที หากไม่มีผู้รับสาย หรือ สายไม่ว่าง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์  เพราะคนร้ายจะใช้อุปกรณ์ SIM Box ในการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถปลอมเบอร์โทรศัพท์ได้ จึงไม่มีช่องทางในการรับสายได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงจากภัยออนไลน์ ก่อนที่จะโอนเงินในการซื้อของออนไลน์, ให้ยืมเงิน, กู้เงิน, สมัครทำภารกิจ หรือ ร่วมลงทุนในทุกกรณี ควรจะต้องขอเบอร์โทรศัพท์ และสามารถโทรติดต่อไปคุยด้วยก่อนตัดสินใจโอนเงินให้เสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามลงทุนตามโฆษณา หรือ คำชักชวนของบุคคลที่รู้จักในโลกออนไลน์โดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของท่าน

  • อย่ากดลิงก์
  • อย่าแอดไลน์
  • อย่าติดตั้งแอปฯ
  • อย่าเชื่อ หรือ คลิกลิงก์โฆษณาบนสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย ต้องการคำปรึกษา หรือแจ้งความคดีออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์กรุณาติดต่อตำรวจไซเบอร์ ได้ที่สายด่วนศูนย์ AOC 1441 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

กรณีถูกหลอกให้โอนเงินและยังไม่สามารถติดต่อสายด่วน 1441 ได้ให้รีบโทรศัพท์แจ้งอายัดเงินในบัญชีธนาคารผ่านทางสายด่วนของธนาคารต้นทางที่ท่านใช้ในการโอนเงินก่อนได้ทันทีด้วยเช่นกัน โดยท่านสามารถค้นหาสายด่วนของทุกธนาคาร และแจ้งความคดีออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPoliceOnline.go.th เท่านั้น

logoline