svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

สรุป 7 วันอันตราย ปีใหม่ 2567 ขับรถเร็วสาเหตุสูงถึง 38.90% กทม.ดับมากสุด 19 ราย

05 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศปถ. สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ 2567 พบขัยบรถเร็วเป็นสาเหตุอันดับ 1 ถึง 38.90% เร่งบูรณาการทุกภาคส่วนถอดบทเรียนอุบัติเหตุทางถนนทุกมิติ วางมาตรการสร้างการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

5 มกราคม 2567 สรุป 7 วันอันตราย 2567 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 200 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 205 คน ผู้เสียชีวิต 17 ราย 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 4 ม.ค. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,288 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,307 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 284 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้ประสานจังหวัด องค์กร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน พาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อปรับปรุงและพัฒนามาตรการและการดำเนินงานสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,785 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,433 คน  เกิดอุบัติเหตุ 200 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 205 คน ผู้เสียชีวิต 17 ราย

  • สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 48.5 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 22 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 14 
  • ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 88.72 
  • เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.5 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 30.5 
  • ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 07.01-08.00 น. ร้อยละ 8 
  • ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 15.77 
  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตาก (12 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (15 คน) 
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ดและสุพรรณบุรี (จังหวัดละ 3 ราย) 

สรุปสถิติ 7 วันอันตราย 2567
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 66 – 4 มกราคม 67พบว่า 

  • เกิดอุบัติเหตุรวม 2,288 ครั้ง
  • ผู้บาดเจ็บ รวม 2,307 คน
  • ผู้เสียชีวิต รวม 284 ราย
  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี 82 ครั้ง
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 89 คน
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 19 ราย 
  • จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก นครนายก ปัตตานี พิจิตร แม่ฮ่องสอน สตูล สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ

นายโชตินรินทร์ เกิดสม กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีจำนวนครั้งการเกิดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการช่วยป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความร่วมมือของประชาชนในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย

แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ประสานจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก อาทิ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ขับรถย้อนศร และการไม่สวมหมวกนิรภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี 

ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย

นายไชยวัฒน์  จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง

รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ.2570 ท้ายนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง
//////////

logoline