svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดข้อกฎหมาย "พรากผู้เยาว์" เทียบ "คดีสมรักษ์" สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร?

12 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดข้อกฎหมาย "พรากผู้เยาว์" หลัง "สมรักษ์" ตกเป็นข่าวใหญ่ "สาว 17 ปี" แจ้งความเอาผิดเนื่องจากถูกล่วงละเมิด สุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดีข้อหาหนัก มีโทษทั้งปรับและจำคุก

“สาว 17 ปี” เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น กล่าวหาเอาผิด “สมรักษ์ คำสิงห์” เจ้าของฉายา “ไม่ได้โม้” อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิกแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา หลังไปเที่ยวสถานบันเทิงในจังหวัดขอนแก่น เมื่อสถานบันเทิงปิด ออกจากร้านเวลาประมาณ 03.00 น. ถูกกระทำอนาจาร ล่วงละเมิดในโรงแรมแห่งหนึ่ง เสี่ยงกับถูกดำเนินคดี “พรากผู้เยาว์”

พร้อมกันนี้ “สาว 17 ปี” เปิดเผยข้อมูล ว่า เมื่อถึงห้องพัก สมรักษ์ ลวนลามกระทำอนาจาร มีการกอดจูบ ถอดเสื้อผ้าเปลือยกาย พยายามจะขัดขืนแล้วแต่ไม่สามารถจะสู้แรงได้ มีการนำอวัยวะเพศจนเกิดมีสารคัดหลั่งขึ้น ต่อมาส่งข้อความไปหาเพื่อนให้มารับ โดยได้ถ่ายภาพสมรักษ์ตอนนอนหลับไว้เป็นหลักฐาน 

ขณะที่ สมรักษ์ ยืนยันความบริสุทธิ์ ยอมรับว่ามีการกอดจูบและเปลื้องผ้าเปลือยกายจริง แต่ไม่มีการบังคับข่มขู่และไม่ได้ข่มขืน เมื่อรู้ว่าอายุไม่ถึง 18 ปี ได้หยุดการกระทำทั้งหมด แล้วบอกให้น้อง 17 ปี พักผ่อน ตอนเช้าจะไปส่ง รู้สึกงงเมื่อถูกแจ้งความดำเนินคดี

"ทนายรณณรงค์" ชี้ สมรักษ์ เสี่ยงโดนข้อหาหนักถึงติดคุก
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร อธิบายถึงโทษที่ "สมรักษ์" อาจได้รับกรณีลวนลาม กระทำอานาจาร ว่า หากตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า สมหรักษ์ ทำอย่างที่กล่าวหาจริง จะมีความผิดข้อหามาตรา 319 เกี่ยวกับเรื่องพรากผู้เยาว์ และมาตรา 278 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี ซึ่งจะมีโทษทั้งจำคุกและปรับ

ทั้งนี้ สุ่มเสี่ยงกระทำผิด ใน 2 ข้อหา คือ

  • ข้อหาพรากผู้เยาว์อายุ 15 ปีไม่เกิน 18 ปี 
  • ข้อหาพรากผู้เยาว์อายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอม หรือไม่ยินยอมก็ตาม

" กรณีการพาผู้เยาว์อายุ 15-18 ปี ไปเพื่ออนาจาร แม้เด็กจะยินยอมก็ตาม โทษสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ไม่เกี่ยวน้องอายุเท่าไหร่ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ แค่กอดจูบลูบคลำไม่จบแค่นั้น คุกทุกราย"

ทำความรู้จักกรณี "พรากผู้เยาว์"
ความผิดอาญาฐานการพรากผู้เยาว์ มีบทบัญญัติกฎหมายอยู่ในมาตรา 317, 318 และ 319 ความหมายของคำว่า “พราก” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล

ดังนั้นต้องทำการวินิจฉัย ว่า ผู้กระทำความผิดได้มี “การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลหรือไม่” โดยที่กฎหมายให้ลักษณะของ “การพาไป” ไว้ว่า เป็นการพาไปหรือแยกเด็กอออกไปจากอำนาจการปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวน หรือถูกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล

ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา  ดังนั้นการพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียว และผู้เยาว์ก็ยินยอมที่จะไปก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น

เปิดบทบัญญัติ ข้อหาและการลงโทษ "พรากผู้เยาว์"
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 (พรากเด็ก) คือ เยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี มาตรา 318 และมาตรา 319 (พรากผู้เยาว์) คือเยาวชนอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ที่ได้มีการบัญญัติในเรื่องของการพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์เป็นการเฉพาะเพื่อมุ่งคุ้มครองอำนาจการปกครองบิดามารดา หรือผู้ดูแล ไว้ดังนี้..

มาตรา 317
มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท

มาตรา 318
มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท

มาตรา 319
มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมาย เด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี และเด็กที่อายุเกิน 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่เกิน 18 ปี หากถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ผู้ล่วงละเมิดจะถูกดำเนินคดีในข้อหา “พรากผู้เยาว์” ซึ่งแต่ละมาตราจะมีอัตราโทษและความรุนแรงที่ต่างกันออกไป โดยสรุปก็คือมีโทษทั้งปรับและจำคุก

กรณีของ "สมรักษ์" บทสรุปส่งท้ายจะลงเอยอย่างไร จึงน่าจับตาหลักฐานและจะต่อสู้แนวใด สุดท้ายแล้วจะ"รอดคุก"ได้หรือไม่ ??

 

logoline