svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เตือนอดีตข้าราชการ แอบอ้างกรมบัญชีกลาง หลอกโอนเงินเกลี้ยงบัญชี

14 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตำรวจ - กรมบัญชีกลาง เตือนอดีตข้าราชการ ระวังการแอบอ้าง ลวงแอดไลน์ อัพเดตข้อมูลผู้เกษียณเพื่อรับเงินบำนาญ กว่าจะรู้ตัวอีกที เงินเกลี้ยงบัญชี

14 กันยายน 2566 สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยประชาชน จากการแอบอ้างกรมบัญชีกลาง เป็นเหตุให้มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหาย

พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 10 กันยายน 2566 มีการรับแจ้งความออนไลน์ 320,000 กว่าเคส ความเสียหายกว่า 45,000 ล้านบาท โดยหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ แล้วโอนเงินออกไป ในห้วงเวลาเดียวกัน รับแจ้ง 80,000 กว่าเคส คิดเป็น 2.47 % ของสถิติการรับแจ้งทั้งหมด ความเสียหายกว่า 820 ล้านบาท

สำหรับสถิติการหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ ในห้วงสัปดาห์ยังคงอยู่อันดับ 5 รับแจ้ง 113 เคส ความเสียหายกว่า 17 ล้านบาท โดยการแอบอ้างกรมบัญชีกลาง จึงได้เชิญ น.ส.ทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง มาร่วมแถลงในครั้งนี้

สำหรับแผนประทุษกรรม คนร้ายโทรศัพท์หรือส่งข้อความ sms มาหาเหยื่อ แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แล้วให้เพิ่มเพื่อนไลน์ เพื่อให้อัปเดตหรือปรับปรุงเงินเดือน เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะถูกตัดบำเหน็จ บำนาญ โดยการเพิ่มเพื่อนไลน์ และกดลิ้งก์เว็บไซต์ที่มีการทำปลอม( https://dps.cgo-th.cc) ที่คนร้ายส่งให้

จากนั้นคนร้ายให้เหยื่อกดแบนเนอร์แอปพลิเคชันสำหรับให้บริการเกี่ยวกับการขอรับเงินบำเหน็จ บำนาญปลอมชื่อ DigitalPension.apk ให้เหยื่อกรอกชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ตั้งรหัสผ่าน 6 ตัว 2 ชุด ที่ไม่ซ้ำกัน กดยืนยันข้อมูล 3 จุดให้เป็นสีน้ำเงิน เพื่อยืนยันตัวตน จากนั้นหน้าจอจะเกิดข้อความเกิดอาการค้าง และขึ้นข้อความว่า “อยู่ระหว่างโหลดข้อมูล” ซึ่งคนร้ายจะหลอกว่าให้โหลดข้อมูลให้ครบ 100% ระบบจึงจะอัปเดตเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นคนร้ายได้สุ่มนำรหัสที่เราใส่ไป หรือจากวันเดือนปีเกิด หรือจากหมายเลขโทรศัพท์ไปทดลองเข้าแอปฯธนาคารแล้วโอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อไป

เตือนอดีตข้าราชการ แอบอ้างกรมบัญชีกลาง หลอกโอนเงินเกลี้ยงบัญชี
จุดสังเกตการเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง

1.ของปลอม

1.1 เว็บไซต์ปลอม นามสกุลของโดเมนของ มักลงท้ายด้วย .cc

1.2 มีช่องทางการติดต่อทางไลน์ส่วนบุคคลที่สามารถส่ง สติ๊กเกอร์ โทร วีดีโอคอล หรือดู LINE VOOM ได้

1.3 ไม่สามารถกดปุ่มเมนูใดๆ ได้นอกจากแบนเนอร์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์

1.4 บัญชีธนาคารเป็นบัญชีส่วนบุคคล (บัญชีม้า)

2.ของจริง

2.1 เว็บไซต์ชื่อ www.cgd.go.th นามสกุลของโดเมนคือ .go.th

2.2 ไม่มีช่องทางการติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์

2.3 สามารถกดปุ่มเมนูได้ทุกเมนู

2.4 ไม่มีบัญชีธนาคารให้โอนเงินแต่อย่างใด

2.5 มีการแจ้งเตือน ว่ากรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายในการโทรหาข้าราชการผู้รับบำนาญ และประชาชน หรือส่ง sms ให้ดำเนินการใดๆ และไม่มีนโยบายในการส่งลิ้งก์ให้ดาวน์โหลดเพื่อติดตั้งหรือตรวจสอบข้อมูลแต่อย่างใด

วิธีป้องกัน

1. ไม่เปิดอ่านหรือกดลิ้งก์แปลกลอม หรือกดเพิ่มเพื่อนไลน์ในรูปแบบสแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ

2. หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Apple Store หรือ Google Play เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดบราวเซอร์อื่น

3. ควรรับข่าวสารของกรมบัญชีกลางผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.cgd.go.th Facebook/Youtube กรมบัญชีกลาง Instagram/X/TikTok @cdg_news และ แอปพลิเคชัน CGD เท่านั้น หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามสายด่วนกรมบัญชีกลาง โทร. 0-2270-6400

กรณีคนร้ายแอบอ้างเป็นกรมบัญชีกลางนั้น บางเคสคนร้ายแอบอ้างให้สิทธิข้าราชการบำนาญกู้เงินโดยใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกัน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อติดต่อขอกู้เงิน คนร้ายแจ้งว่าเหยื่อได้รับอนุมัติให้กู้เงินแล้ว แต่ไม่สามารถโอนเงินกู้ให้ได้ เนื่องจากระบบล็อค (System Lock) ต้องโอนเงินปลดล็อคระบบ โอนเงินยืนยันตัวตน โอนเงินรีเซ็ตเอกสารใหม่ จากนั้นจะส่งหนังสือแก้ไขการปลดล็อคและยกเลิกอายัดวงเงินในระบบมาให้เหยื่อหลงเชื่อ เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเพื่อปลดล็อค ระบบ คนร้ายจะอ้างว่าโอนเงินไม่ครบตามจำนวน ต้องโอนเงินเศษสตางค์ด้วย ไม่เขียนบันทึกช่วยจำ เขียนบันทึกช่วยจำผิด เขียนไม่ครบ เว้นวรรคไม่ถูก ฯลฯ แล้วให้โอนเงินใหม่ และอ้างด้วยว่าเงินที่โอนมานั้นจะได้รับคืน จะผ่อนชำระเฉพาะยอดเงินที่กู้เท่านั้น สุดท้ายเหยื่อเสียเงินไปจำนวนมาก

น.ส.ทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง

รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเตือน ผู้รับบำนาญ ว่า การยื่นขอรับบำนาญของข้าราชการที่เกษียณอายุหรือลาออก สามารถยื่นขอรับได้ที่ส่วนราชการต้นสังกัด หรือยื่นผ่านระบบ e-filling ด้วยตนเอง โดยเตรียมประวัติการรับราชการ บัญชีเงินฝากธนาคารสำหรับรับบำนาญ หลังจากยื่นแล้ว ส่วนราชการต้นสังกัดจะทำการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง ส่วนราชการต้นสังกัดส่งข้อมูล ผ่านระบบ Digital Pension ให้กรมบัญชีกลาง เมื่อกรมบัญชีกลางได้รับข้อมูลจากระบบและเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาครบถ้วน ก็จะทำการอนุมัติสั่งจ่ายเงินบำนาญผ่านระบบ Digital Pension และออกหนังสือสั่งจ่ายบำนาญ โดยจะแจ้งอัตราบำนาญต่อเดือนที่ผู้รับบำนาญจะได้รับไปยังส่วนราชการต้นสังกัด เพื่อทำการแจ้งผู้รับบำนาญต่อไป

หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการโอนเงินให้แก่ผู้รับบำนาญ ซึ่งจะโอนเงินให้แก่ผู้รับบำนาญผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผู้รับบำนาญแจ้งตอนยื่นขอรับบำนาญเป็นรายเดือน ทุกเดือน (ก่อนวันทำการสุดท้าย 5 วันทำการ)

สำหรับผู้รับบำนาญเดิมที่เกษียณอายุไปก่อนหน้านี้ก็เช่นกัน กรมบัญชีกลางจะโอนเงินไปตามบัญชีเงินฝากธนาคารที่แจ้งตอนยื่นขอรับบำนาญ กรณีที่ผู้รับบำนาญจะเปลี่ยนแปลงเลขที่บัญชี ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้รับบำนาญจะต้องแจ้งส่วนราชการต้นสังกัดเท่านั้น โดยกรมบัญชีกลางไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือข้อมูลใด ๆ ของผู้รับบำนาญได้

กรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อผู้รับบำนาญ หรือทายาทของผู้รับบำนาญที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อที่จะให้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงบัญชีเงินฝากธนาคารที่ใช้รับบำนาญ หรือการโทรแจ้งรับสิทธิสวัสดิการต่างๆ การยกเลิกจ่ายบำนาญ รวมทั้งการส่ง sms ให้กดลิ้งก์ ให้ดาวน์โหลดข้อมูล ให้แอดไลน์เพิ่มเพื่อน หรือให้สแกนใบหน้า สแกน QR Code

ขอให้ทุกท่านอย่าหลงเชื่อ อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว อย่ากดลิ้งก์ อย่าสแกน และอย่าแอดไลน์บุคคลแปลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่แอบอ้างชื่อผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ ที่มาจากกรมบัญชีกลาง โดยขอให้ติดตามข่าวสารจากช่องทางต่างๆ ของกรมบัญชีกลาง หรือถ้ามีข้อสงสัย ให้โทรสอบถาม Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 (60 คู่สาย) 

เตือนอดีตข้าราชการ แอบอ้างกรมบัญชีกลาง หลอกโอนเงินเกลี้ยงบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

logoline