svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

โปรดเกล้าฯ "เรวัตร จันทร์ประเสริฐ" นั่งประธานคณะกรรมการอัยการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "เรวัตร จันทร์ประเสริฐ" เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ

16 สิงหาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานคณะกรรมการอัยการ 

ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายพชร ยุติธรรมดำรง เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เนื่องจาก นายพชร ยุติธรรมดำรง ได้ดำรงตำแหน่งมาครบกำหนดตามวาระแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการเลือกประธานคณะกรรมการอัยการ 

ซึ่งปรากฏผลว่า นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการอัยการ จึงขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปแล้ว
โปรดเกล้าฯ \"เรวัตร จันทร์ประเสริฐ\" นั่งประธานคณะกรรมการอัยการ
 

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2566

ประกาศ ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม >>>>> 

นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ประธานคณะกรรมการอัยการคนใหม่

สำหรับ นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ จบคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่น 11 รุ่นเดียวกับ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีต อสส.และ ปธ.ก.อ.คนแรกจากการเลือกตั้ง และบรรจุรับราชการอัยการรุ่นเดียวกันกับ นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ถูกจับตามองเป็นตัวเต็ง ในการเลือกตั้งประธาน ก.อ.ครั้งนี้

ด้วยความเป็นผู้ใหญ่จิตใจดี ได้รับการยอมรับจากทุกระดับชั้น เป็นที่รักชื่นชอบน้อง ๆ อัยการ จากเคยเป็น อธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชฝ่ายอัยการ จนถึงอัยการอาวุโส เสมือนครูใหญ่ จัดฝึกอบรมอัยการผู้ช่วยฯอัยการจังหวัด เเละหลักสูตรอื่นอีกหลายรุ่น 

โดยคณะกรรมการอัยการ (ก.อ) ตามกฎหมายใหม่จำนวน 15 คน ประกอบด้วยประธาน ก.อ. (ที่มาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วยซึ่งกฎหมายเก่าจะเป็น อสส.โดยตำเเหน่ง) โดยมีอัยการสูงสุดเป็นรองประธาน ก.อ.

ส่วน ก.อ.ประกอบด้วย รองอัยการสูงสุด ตามลำดับอาวุโส จำนวน 5 คน กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ซึ่งมาจากการเลือกของอัยการ ยกเว้นอัยการผู้ช่วย ประกอบด้วย อัยการชั้น 5 ขึ้นไปจำนวน 4 คน อัยการที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 2 คน รวมเป็น 6 คน เเละกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน

ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นอัยการมาก่อน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการงบประมาณ การพัฒนาองค์กร หรือการบริหารจัดการ (มาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วย) โดยให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ เป็นเลขานุการ ก.อ.

สำหรับคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิได้รับเลือก เป็นประธาน ก.อ. จะเป็นผู้รับบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเคยรับราชการเป็นข้าราชการมาแล้ว ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่า อธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาค หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า

ทั้งนี้ ต้องไม่เคยเป็นสมาชิก หรือเป็นเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะสิบปี ก่อนได้รับเลือกโดยประธาน ก.อ. มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณา โปรดเก้าโปรดเกล้าแต่งตั้ง ส่วน ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปีนับแต่วันที่ อสส. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็น ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยประธาน ก.อ. และ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว
โปรดเกล้าฯ \"เรวัตร จันทร์ประเสริฐ\" นั่งประธานคณะกรรมการอัยการ