svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ถอดบทเรียนเหตุกราดยิง จิตแพทย์ ชี้ สังคมเครียดสูง ต้นเหตุสู่ความรุนแรง

07 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เนชั่นออนไลน์ ชวนอ่านความเห็นจากจิตแพทย์-นักอาชญาวิทยา กรณีเหตุกราดยิง ด้าน อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ สังคมเครียดสูง ต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ขณะที่ ตัวเลขประเมินสุขภาพจิต 1 ม.ค. 66- 30 มี.ค. 66 พบคนไทยเครียดสูง 8,580 คน

จากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งสร้างความวิตกกังวลให้กับสังคม นับวันยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเข้าไปทุกที ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย โดยข้อมูลกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ปัญหาหลักเกิดจากความเครียดสะสม

ถอดบทเรียนเหตุความรุนแรงสู่ "กราดยิง"

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า แรงจูงใจในการทำร้ายตนเองและคนอื่นในแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เริ่มต้นด้วยความเครียด รวมทั้งความรู้สึกไม่สมดุลในจิตใจ การอัดอั้นความโกรธแค้นไม่มีที่ระบายออกอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจจะออกมาในลักษณะการทำร้ายตัวเองจนบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมไปถึงการทำลายข้าวของหรือสิ่งมีชีวิตและคนที่อยู่รอบข้างด้วย

ส่วนพฤติกรรมการกราดยิงนั้น ดร.นพ.วรตม์ ระบุว่าปัจจัยการก่อเหตุมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกับอุปกรณ์และอาวุธที่ใช้ ในต่างประเทศเราจะเห็นภาพข่าวกราดยิงโดยใช้อาวุธแบบหมู่ เพราะอาจจะมีการเปิดอิสระทางอาวุธค่อนข้างมาก ซึ่งในไทยมีความแตกต่างจึงทำให้พบกรณีกราดยิงจากผู้ที่มีอาวุธติดตัวและครอบครองได้อิสระ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต
ขณะเดียวกันการนำเสนอของสื่อก็เป็นเรื่องสำคัญ ดร.นพ.วรตม์ มองว่าถ้าสื่อนำเสนอความรุนแรงเป็นแค่ความรุนแรง ก็จะทำให้ถูกมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติและทำได้ และได้รับการยอมรับหรือเป็นที่รู้จัก ก็นับว่ามีความเสี่ยงและอันตราย ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กแต่ผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงจากสื่อได้เช่นกัน หากเปลี่ยนมานำเสนอในแง่ของการป้องกัน และตระหนักไว้เสมอว่า ความรุนแรงใหญ่ๆ มักเกิดจากสัญญาณเล็ก ๆ

โดยเฉพาะคอนเทนต์ในปัจจุบันมีความหลากหลาย ควบคุมยาก ขณะที่ผู้รับชมเองก็ควบคุมไม่ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากช่องว่างของคนในครอบครัวที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ทั้งนี้ เราไม่ควรเฉยชากับความรุนแรง เพราะจะไม่รู้ว่าควรจัดการกับความรุนแรงได้อย่างไร และควรนำเอากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาถอดบทเรียนและนำไปสู่การเรียนรู้แทน

ถ้าความรุนแรงที่ปล่อยออกมามีความเพิกเฉย โอกาสที่จะพัฒนาความรุนแรงมากขึ้นสูง เช่น บางคนทำร้ายสัตว์ จนขยับความรุนแรงมาทำร้ายคนแทน หากปล่อยให้หายไปเองมีโอกาสยากมาก จนอาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียบางอย่างก่อน ต้องได้รับความดูแลอย่างใกล้ชิด


95 เปอร์เซ็นต์ "ความรุนแรง" เกิดจากผู้มีความเครียดสูง 

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มผู้ที่ป่วยทางจิตเพียง 4% ดังนั้น 95% ที่เหลือเป็นความรุนแรงจากคนที่ไม่ป่วยแต่มีความเครียดสูง ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ เมื่อต้องดูกลุ่มเสี่ยงใหญ่ ก็สามารถดูจากการเอาอาชีพเป็นตัวตั้ง เช่น ฝ่ายความมั่นคงที่ง่ายต่อการใช้อาวุธ  เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือมองภาพใหญ่ของสังคมเป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้ 95% ของปัญหาดีขึ้น

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต

สำหรับกรมสุขภาพจิต ได้ออกแบบ 2 โปรแกรมเพื่อเปิดรับองค์กรต่าง ๆ นำบุคลากรมาดูแลสุขภาพจิต คือ 1.โปรแกรมมาตรฐาน ที่จะดูแล 3 เรื่อง คือ การจัดการความเครียด การเงิน และการฝึกความสามารถในการสื่อสาร เช่น ให้หัวหน้ารับฟังลูกน้อง และ 2.โปรแกรมวิสัยทัศน์ เป็นการพัฒนาระดับจิตของบุคลากร เรียกว่า สติในองค์กร เป็นการนำจิตวิทยาสติ ให้คนที่คุณภาพจิตที่ดีขึ้น โดยทางกรมสุขภาพจิตก็ได้สร้างแรงจูงใจให้องค์กร โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้

กลุ่มเสี่ยงที่แบ่งตามช่วงอายุ คือ กลุ่มก่อความรุนแรงต่อตนเองถึงขั้นเสียชีวิต มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ เฉลี่ย 60-70 ปีขึ้นไป  สาเหตุมาจากปัจจัยความสัมพันธ์ และโรคประจำตัวทางกายทางจิต การใช้สุรา และสารเสพติด

กลุ่มก่อความรุนแรงทำร้ายคนอื่น จะเป็นพวกกลุ่มวัยกลางคน กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและไม่ได้ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน และมีความเครียดสูง เช่น กลุ่มอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเยอะ อาทิ หมอ,พยาบาล บุคลากรด้านสาธารสุขหรือว่ากลุ่มอาชีพมีกฎระเบียบเคร่งครัด ผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ,ทหาร รวมถึงผู้ที่มีระยะเวลาทำงานยาวนานและทำงานช่วงกลางคืน เช่น ศิลปิน,นักร้อง,นักแสดง

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบระบบติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต ผ่านระบบ www.วัดใจ.com หรือ ระบบ Mental Health Check In ซึ่งได้ทำการสอบถามผู้ประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2566 จำนวน 326,771 คน พบว่าเครียดสูง 8,580 คน หรือ 2.63 % เสี่ยงซึมเศร้า 11,175 คน หรือ 3.42 % เสี่ยงฆ่าตัวตาย 5,732 คน หรือ 1.75 % มีภาวะหมดไฟ 1,853 หรือ 3.17 % ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิต

ถอดบทเรียนเหตุกราดยิง จิตแพทย์ ชี้ สังคมเครียดสูง ต้นเหตุสู่ความรุนแรง

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ สังคมเครียดสูง ต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ว่า หากติดตามข้อมูลจากข่าวจะพบว่าผู้ก่อเหตุจัดการกับความรู้สึกของตนเองในเรื่องคดีความด้วยวิธีไม่เหมาะสมด้วยการระเบิดความรุนแรง ใช้อาวุธปืนทำร้ายคนอื่น โดยไม่กลัวกฎหมายจากการที่ถูกครอบงำความคิดในเชิงเหตุผล

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นห่วงจะเป็นการเลียนแบบในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้ว่าการก่อเหตุครั้งนี้เกิดจากการลอกเลียนแบบเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่รู้สติของตัวเองก็จะไม่ลอกเลียนแบบในเรื่องเช่นนี้ และพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ องค์ประกอบเกี่ยวข้อง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

สังคมมีความเครียดสูงขึ้น ยิ่งต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจมากขึ้น จะปล่อยตัวตามสิ่งแวดล้อมไม่ได้  โดยต้องมีสติ เรียนรู้การจัดการด้านความคิด อารมณ์ด้านลบของตัวเอง ยิ่งเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ยิ่งต้องสร้างความตระหนักให้ตัวเอง เพื่อลดความเครียด ความทุกข์ของตัวเองไม่ปล่อยให้เป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านี้

 

ตำรวจเครียดกว่าประชาชน 2 เท่า พร้อมแนะวิธีจัดการปัญหา

ด้าน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ ต้องยอมรับว่าการทำงานของตำรวจในปัจจุบัน มีความเครียดจากการถูกคาดหวังและถูกตรวจสอบจากสังคม และจากข้อมูลพบว่า ตำรวจที่ทำงานสัมผัสประชาชน มีความเครียดมากกว่าประชาชนทั่วไปประมาณ 2 เท่า ไม่ใช่เฉพาะตำรวจไทย ตำรวจทั่ว ๆ ไปก็เช่นกัน เพราะตำรวจต้องทำงานแก้ปัญหาประชาชนทุกวัน

ทุกคนมีความเครียดเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าระดับความเครียดมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งการบริหารจัดการอารมณ์ เพื่อจะลดความเครียดของแต่ละคนก็ต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบ่มเพาะ การเรียนรู้ วิธีจัดการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ถูกขัดเกลาจากครอบครัว สถาบันการศึกษา เรียนรู้จากคนรอบข้างว่าจัดการความเครียดอย่างไร ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีส่วนสำคัญที่จะเผยแพร่ความรู้ตรงนี้ด้วย เพื่อสนับสนุนให้ลดความตึงเครียดลง

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต

logoline