svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "เครื่องบินตกหลุมอากาศ" คืออะไร อันตรายแค่ไหน

ทำความรู้จัก "หลุมอากาศ" คืออะไร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเครื่องบินตกหลุมอากาศ อันตรายแค่ไหน? พร้อมเปิดคำแนะนำ เวลาเดินทาง ผู้โดยสารควรทำอย่างไร เพื่อความปลอดภัย

จากกรณี เที่ยวบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ทำการบินด้วยโบอิ้ง 777-300 ER มีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คนและลูกเรือ 18 คน จำเป็นต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงเวลา 15.35 น. เนื่องจากตกหลุมอากาศ เบื้องต้นมีมีผู้โดยสารเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกนับสิบคน 

"เนชั่นทีวี" ขอพาทำความรู้จัก "หลุมอากาศ" คืออะไร มีความอันตรายแค่ไหน เมื่อเจ้านกเหล็กตกหลุมอากาศ จะเกิดอะไรขึ้น?

ภาพโดย muratart / shutterstock

ทำความรู้จักหลุมอากาศ

เวลาเครื่องบินบินอยู่กลางอากาศ ต้องใช้แรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกไป ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่สม่ำเสมอไปพร้อมกัน แต่บางครั้ง เมื่ออากาศส่วนบน และส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกันมาก ๆ บริเวณรอยต่อจึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้าย ๆ กับระลอกคลื่น เมื่อเครื่องบินบินผ่านเข้าไปในบริเวณนี้จึงเกิดการสั่นสะเทือน เหมือนตกหลุมนั่นเอง

เมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารจะเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย บางครั้งเครื่องจะสั่น และหากรุนแรงมาก ก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้

โดยระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ แบ่งเป็น

  • ต่ำ ขึ้นลง 1 เมตร : ผู้โดยสารอาจไม่รู้สึก 
  • ปานกลาง ขึ้นลง 3-6 เมตร : ผู้โดยสารอาจรู้สึก น้ำในแก้วอาจหก
  • รุนแรง ขึ้นลงได้มากถึง 30 เมตร : ผู้โดยสารถ้าไม่รัดเข็มขัด อาจหลุดจากเก้าอี้ได้

ภาพโดย Blue Rhino Media / shutterstock

สาเหตุของการเกิดหลุมอากาศ มีดังนี้

  1. เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน บินเขาไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของ "กระแสลมกรด" กับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งกรณีนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ (สำหรับกระแสลมกรด (jet stream) คือแถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในบรรยากาศชั้นสูงโดยพัดโค้งไปมาคล้ายการไหลของแม่น้ำ)
  2. เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ กรณีนี้สามารถคาดการณ์ได้ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้นักบินจะเตือนผู้โดยสาร
  3. พายุฝนฟ้าคะนอง กรณีนี้สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้


สภาพอากาศแปรปรวน ถือเป็นอันตรายต่อการบิน

เครื่องบินตกหลุมอากาศเกิดขึ้นในทุกระดับความสูง ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินเสียการควบคุมร่วงหล่นจากเพดานบินปกติ และอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่บนเครื่องบินได้ โดยสภาพอากาศแปรปรวนถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบิน ได้แก่ Clear Air Turbulance – CAT หรือหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมปั่นป่วนอย่างรุนแรงที่ระดับความสูงเดียวกับเพดานบินของเครื่องบินโดยสาร ลักษณะของหลุมอากาศชนิดนี้ เรดาร์บนเครื่องบินไม่สามารถตรวจจับได้ อากาศจะมีสภาพแจ่มใส แต่อาจเกิดความปั่นป่วนของกระแสลมได้ตลอดเวลา หากจะติดตั้งเรดาร์แบบตรวจจับจะมีราคาแพงและน้ำหนักมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคของเครื่องบิน จึงไม่ค่อยนิยมใช้

ส่วน ความรุนแรงของหลุมอากาศ ที่เกิดจากกระแสลมแปรปรวน นั้น กองอุตุนิยมวิทยาการบิน ได้แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  1. เล็กน้อย (Light) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด นั่งอยู่กับที่นั่ง สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินต้องเก็บให้เรียบร้อย
  2. ปานกลาง (Moderate) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราวแม้จะรัดเข็มขัดแล้ว สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้
  3. มาก (Severe) : สภาพปั่นป่วนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจถูกโยนลอยขึ้นในอากาศได้
  4. มากที่สุด (Extreme) : สภาพความปั่นป่วนระดับนี้พบน้อยมาก ตัวเครื่องบินถูกโยนขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบิน

 

ที่มาของความรู้สึกเหมือนหล่นวูบ

หากใครเคยมีประสบการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศ อาจมีความรู้สึกเหมือนหล่นวูบ เกี่ยวกับที่มาของความรู้สึกนี้ ทาง เพจเฟซบุ๊ก บินแหลก ซึ่งคอยให้ความรู้การบินโดยเน้นอ่านง่ายสนุก ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า...

ถนนของเครื่องบิน ก็คืออากาศ และอากาศเป็นของไหล เป็นธรรมชาติของอากาศจะมีการเคลื่อนที่ จากที่ความดันสูงไปหาที่ความดันต่ำ ซึ่งเราเรียกการเคลื่อนที่แบบนี้ว่า "ลม" แต่อากาศมีความพิเศษมากกว่านั้น เพราะสามารถเคลื่อนที่ในแนวดิ่งก็ได้ เราเรียกว่า "updraft" หรือ "downdraft"


ถ้าอากาศเคลื่อนที่ไปอย่างราบเรียบ เครื่องบินก็จะไม่มีการสั่นสะเทือน ซึ่งปีกของเครื่องบิน ทำหน้าที่ซับการสั่นสะเทือนเล็กๆ น้อยๆ ได้ โดยปีกจะมีความยืดหยุ่นให้ตัวได้ เปรียบเสมือนช่วงล่างของรถยนต์

แต่บางครั้ง อากาศมีการเคลื่อนที่ แบบไม่นิ่ง เครื่องบินก็จะสั่นไปตามความปั่นป่วนของอากาศตรงนั้น เราจะเรียกความปั่นป่วนนี้ว่า "turbulence" หรือ "turbulent air" หรือ "rough air" 

ถ้าเครื่องบินมีการสั่นสะเทือน โดยมีอาการเหมือนหล่นวูบ มักจะเกิดจาก updraft หรือ downdraft เป็นการเคลื่อนที่ของอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เครื่องบินมีการโยนตัว ขึ้น และลง

หากเจอ updraft เครื่องบินก็จะถูกดันให้บินสูงขึ้น แต่การที่อากาศเกิด updraft จะไม่นิ่ง มันจะดันเป็นลูกๆ ดันมาลูกนึง แล้วก็หาย เครื่องบินก็เลยถูกเพิ่มแรงยกอย่างกระทันหัน แล้วแรงยกนั้นก็หายไปทันที เป็นอย่างนี้ไปหลายๆ ที ก็เลยมีอาการวูบวาบๆ แต่ถ้าเจอ downdraft ก็จะตรงข้ามกัน เครื่องจะถูกดันลงมาก่อน แต่จะถูกพบได้ยากกว่า updraft แต่การที่ลมมาจากข้างหน้า หรือข้างหลัง ก็จะมีผลทำให้เครื่องบินเพิ่ม หรือเสียความสูงได้เหมือนกัน โดยแรงยกที่เพิ่มๆหายๆนี่ เราเรียกว่า แรง g (gravity) 

turbulence อันตรายแค่ไหน

ถ้าเป็นเครื่องบินโดยสารที่เรานั่งกันปกติ แทบไม่มีความอันตรายในการทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เลย เนื่องจากปีกและลำตัวถูกออกแบบมาให้รับกับแรง g ที่เยอะมาก แต่ turbulence จะอันตรายมากกับเครื่องบินขนาดเล็ก ส่วนเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก

เพจบินแหลก ยังระบุด้วยว่า ที่อันตราย คือ ในห้องโดยสาร การบาดเจ็บส่วนมากจะเกิดจากการที่ตัวคนลอยไปกระแทกอะไรบางอย่าง หรือมีข้าวของบางอย่าง ลอยมากระแทกคน พร้อมย้ำว่าให้รัดเข็มขัดด้วย (อ่านโพสต์ฉบับเต็มเรื่องหลุมอากาศ >ที่นี่<)

คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย 

โดยปกติแล้ว นักบินจะศึกษาเส้นทางที่อาจเกิดหลุมอากาศอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เวลาอยู่บนเครื่องบินผู้โดยสารก็ควรรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดการเดินทาง


ภาพโดย muratart / shutterstock
ขอบคุณข้อมูลจาก :

เพจ วิทย์สนุกรอบตัว
เพจ บินแหลก
spu.ac.th
กองอุตุนิยมวิทยาการบิน
www.dek-d.com

ภาพ : shutterstock