svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"ก้าวไกล - เพื่อไทย"ยื้อแย่งเก้าอี้"ประธานสภา"โอกาสพลิกสร้างสมการใหม่

02 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โอกาสไปต่อยาก เวทีเจรจา 8 พรรค สัมผัสได้จากท่าทีแสดงความกังวลผ่านการแถลงข่าวเมื่อช่วงสายวันที่ 2 กรกฎาคม อีกทั้ง"ก้าวไกล"กับ"เพื่อไทย" ใช้เกมแห่งเวลาบีบรัดต่อรองเก้าอี้ต่างๆ ที่สำคัญ "ประธานสภา" ที่ไม่มีใครยอมใคร

ช่วงสายของวันที่ 2 กรกฎาคม ณ ที่ทำการ"พรรคก้าวไกล" มีการประชุม 8 แกนนำพรรคร่วม ที่ว่ากันว่า เป็น"พรรคฝ่ายประชาธิปไตย"ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ดูจะมีบรรยากาศไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่นัก  

ทันทีที่ "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยพร้อมคณะ เดินทางมาถึงที่ทำการพรรคก้าวไกล ปรากฎเหล่า"ด้อมส้ม"ส่งเสียงโห่ร้องหากสดับตรับฟังทั้งสองรูหู ไม่น่าจะเป็นเสียงแห่งการต้อนรับอย่างอบอุ่นแต่ออกมาด้วยถ้อยความสุดแสนทารุณกับแขกผู้มาเยือน " อย่าเสียสัตย์เพื่อชาติ" 

ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังการประชุมและร่วมแถลงข่าว ยิ่งสัมผัสได้ถึงสีหน้าคร่าตาแกนนำแต่ละพรรค ดูหมองคล้ำพิกล 

การประชุมแต่ละนัดที่ผ่านมา เคยเห็นภาพอันหวานชื่นมีการทำสัญลักษณ์รูปหัวใจ สื่อสารความสัมพันธ์ "เรารักกันอย่างดูดดื่ม"  ระหว่างสองหัวหน้าพรรค "พิธา  ลิ้มเจิรญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกลและ "ชลน่าน ศรีแก้ว"หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

แต่สำหรับภายหลังการแถลงข่าวครานี้ มีการยืนจับไม้จับมือให้สื่อบันทึกภาพ เหมือนจะเป็นการประสานมือกันอย่างหลวมๆ พร้อมกับแสดงออกทางสีหน้าบ่งบอกถึงความกังวลใจอะไรบางอย่าง 

   บรรยากาศหลังการแถลงข่าว 8 แกนนำ พรรคร่วม  เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 66

จงอย่าได้แปลกใจผลการประชุมวันนี้ ไม่มีความคืบหน้าหรือชัดเจน เกี่ยวกับตำแหน่ง "ประธานสภา"  เป็นไปตามคาด เหมือนอย่างที่เนชั่นทีวีเคยนำเสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ในการประชุมแกนนำ 8 พรรค วันที่ 2 กรกฎาคม จะไม่มีประเด็น"ประธานสภา" เนื่องจากพรรเพื่อไทยยังหาข้อสรุปไม่ได้ที่จะยอมหนุนคนก้าวไกลเป็น"ประธานสภา"

และจงอย่าได้แปลกใจ เมื่อ"นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา" หัวหน้าพรรคประชาชาติ แถลงด้วยข้อความถึงสองพรรคท่วงทำนอง เวลาเหลือน้อยลงทุกทีกรุณาคุยกันให้จบ 

 "หวังว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 40 กว่าชั่วโมงขณะนี้ สร้างชัยชนะให้ประชาชน ในการได้รัฐบาลประชาธิปไตยได้ เพื่อไม่ให้โอกาสตกไปกับฝ่ายที่รออยู่..."

 

 

นี่จึง เป็นการตอกย้ำภาพการจับมือตั้งรัฐบาล 8 พรรค นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนมาถึงเดือนกรกฎาคมที่จะมีการเปิดสภาอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ยังจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่

ในเมื่อด่านแรก คือการเลือก"ประธานสภา" ในวันที่ 4 กรกฎาคม หรืออีกเพียงแค่สองวันเท่านั้น แต่ "ก้าวไกล" และ"เพื่อไทย" ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ  

เมื่อพิจารณาเงื่อนปมปัญหาของสองพรรคจนถึงวันนี้ อาจทำให้สถานการณ์พลิกเปลี่ยนอย่างน่าจับตา

การต่อรองยื้อกันไปมาของตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" เริ่มจาก"พรรคเพื่อไทย" เคยเสนอเงื่อนไขไปแล้วว่า ในเมื่อ"พรรคก้าวไกล"ได้เสียง 151 ส.ส.ก็สมควรได้รับการสนับสนุน "ประมุขฝ่ายบริหาร"(นายกรัฐมนตรี)

\"ก้าวไกล - เพื่อไทย\"ยื้อแย่งเก้าอี้\"ประธานสภา\"โอกาสพลิกสร้างสมการใหม่

แม้ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาพรรคอันดับ 1 จะได้เก้าอี้สร.1และประธานสภาแทนฯไปด้วย แต่มีข้อยกเว้นในบางสมัย เช่นเลือกตั้งส.ส.ครั้งล่าสุดที่พรรคอันดับสี่ (พรรคประชาธิปัตย์) ได้เก้าอี้นี้ไปหลังต่อรองร่วมรัฐบาลกับพรรคอันดับสอง(พรรคพลังประชารัฐ)ในตอนนั้นสำเร็จ ดังนั้น จึงไม่ใช่หลักประกันว่า พรรคอันดับหนึ่งจะได้สองเก้าอี้ (นายกฯ+ประธานสภาผู้แทนฯ)ไปพร้อมกัน

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา "ก้าวไกลเดินลุยไฟ เปิดชื่อว่าที่สร.1 "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรค  พร้อมกับ เปิดตัวว่าที่ประธานสภาผู้แทนฯ "ปดิพัทธ์ สันติธาดา"  ส.ส.พิษณุโลก ให้สังคมรับรู้ผ่านสื่อมวลชนมาหลายวัน เสมือนเป็นการชิงเกมตัดหน้าให้ "พรรคเพื่อไทย"ได้รับรู้ว่า ความพยายามต่อรอง"ตำแหน่งประธานสภา" ของเพื่อไทย สิ้นสุดทางเลือกแล้ว

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล  และ ว่าที่ประธานสภาผู้แทนฯ "ปดิพัทธ์ สันติธาดา"  ส.ส.พิษณุโลก 

ซุ่มเสียง "ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรคก่อนประชุม 8 พรรคร่วม บอกว่า "ยังมีเวลาที่จะคุยกับเพื่อไทยเพื่อให้ประเด็นที่เป็นปัญหายุติด้วยดี" แต่ทว่า "ชัยธวัช" ตบท้ายด้วยข้อความยืนยันบุคคลากรพรรคก้าวไกลเหมาะสมในการรับหน้าที่ พร้อมอ้างธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยใช้กันมายาวนานสำหรับ"ประมุขนิติบัญญัติ" 

 

ดังนั้นการประชุมหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค เมื่อช่วงสายของวันที่ 2 กรกฎาคม จึงเป็นการประชุมหารือทั่วไป โดยไม่มีสาระสำคัญนัก เพราะความไม่ลงตัวของสองพรรคหลักนี้มีนัยสำคัญกว่า น่าจะเป็นแผนยื้อเวลาของ"พรรคสีส้ม-พรรคสีแดง"ไปในคราวเดียวกัน 

แกนนำหลากพรรค อ่านเกมออก "สองพรรคหลัก"น่าจะตีรวนกันเอง เพราะ"พรรคก้าวไกล"ต้องการสองเก้าอี้นี้ไว้ในการครอบครอง ส่วน "พรรคเพื่อไทย" เปิดไพ่ต่อรองด้วยการอ้างตัวเลข 14+1 ที่เคยยื่นให้"พรรคสีส้ม"ไปพิจารณา

\"ก้าวไกล - เพื่อไทย\"ยื้อแย่งเก้าอี้\"ประธานสภา\"โอกาสพลิกสร้างสมการใหม่

"เพื่อไทย" มองขาดว่า "ก้าวไกล" ต้องการเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯเพื่อผลักดันร่างกฎหมาย 45 ฉบับ ( หนึ่งในนั้น คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ) และเสนอวาระการลงมติเลือกสร.1ที่ต้องใช้เสียงส.ส. 500 คนและส.ว. 250 เสียงรวมกันให้ผ่าน 376 เสียง 

ทั้งที่รับรู้กันลั่นทุ่งสภาเกียกกาย "พรรคสีส้ม" มีโอกาสยากถึงยากที่สุดในการหาเสียงสนับสนุนทั้งจาก 64 ส.ว. และ 188 ส.ส.ขั้วรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาไว้ในหัวใจ 

ประการต่อไป หาก"ประธานสภาผู้แทนฯ" มาจากพรรคสีส้มจะมีการเดินจังหวะ ลงมติเลือกสร.1ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้บทสรุปและไม่น่าจะมีการพักประชุม  ประการถัดมา จะมีมวลชนด้อมส้มตั้งป้อมอยู่นอกสภา พร้อมขับเคลื่อนได้ตลอดเวลา หากผลการโหวตไม่เป็นที่พึงพอใจ โดยที่ ไม่ใช่ชื่อ "พิธา" เป็นนายกฯ 

เชื่อว่ากองเชียร์ด้อมส้มจะแสดงอาการทุกรูปแบบ พร้อมโจมตีพรรคเพื่อไทยแบบไม่ยั้งมือ และจะโหมกระแสบีบ 250 ส.ว. และส.ส.188 เสียง หากไม่ลงคะแนนให้"พิธา"เป็นนายกฯไปอีกชั้นหนึ่ง

สถานการณ์ข้างต้นหากปิดเกม"ก้าวไกล"ไม่ได้เก้าอี้"ประธานสภา" เท่ากับเกมการปิดเส้นทาง"พิธา" ไม่ให้ไปถึงประมุขฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง (โดยอ้างคุณสมบัติและข้อกล่าวหาต่างๆนานากับเหตุที่ปรากฏกับ"พิธา"และ"ปดิพัทธ์"รวมทั้งจังหวะของพรรคก้าวไกลในห้วงเวลาที่ผ่านมาบนปฏิทินการเมืองเป็นเหตุผลอ้างว่าตัวแทนจากพรรคก้าวไกลไม่มีความเหมาะสม )

แกนนำบางคนจากขั้ว 8 พรรค เช่น "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยสะท้อนความเห็นผ่านสื่อหลากสำนักว่า "รอยร้าวของพรรคก้าวไกล,พรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นแล้ว และอยากให้สองพรรคนี้เจรจาให้ลงตัว หากไม่ยุติ โอกาสที่จะเกิดการพลิกผันมีได้ทุกสมการการเมือง"   

กอปรกับกระแสข่าวลือที่หลายคนประเมิน น่าจะเป็นข่าวจริงคือ วันที่ 4 กรกฎาคม อาจมีส.ส.บางคนเสนอชื่อบุคคลชิงประธานสภาผู้แทนฯ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อตั้งแต่ 1 - 3 คน เพราะแกนนำในขั้ว 188 ส.ส. ระบุแล้วว่า ขอดูรายชื่อบุคคลที่จะลงมติชิงประธานสภาผู้แทนฯจากปีก 312 ส.ส.ก่อน 

คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

"คุณหญิงสุดารัตน์"จับกระแสเคลื่อนไหวของทุกพรรคได้ว่ามีความสั่นไหวและเกิดได้ทุกสมการการเมืองที่หลายคนไม่คาดคิด ดังนั้น"คุณหญิงสุดารัตน์จึงสะท้อนดังๆให้สังคมได้ยินและช่วยกดดันสองพรรคหลักให้เจรจาลงตัวโดยเร็ว เพราะ"คุณหญิงสุดารัตน์"ยังประเมินว่า เมื่อมีรายชื่อตั้งแต่ 2 - 3 คนในการชิงเก้าอี้ประมุขย่านเกียกกายนั้น สมการการเมืองเปลี่ยนขั้วทันที  

ถอดรหัสความคิดของ "คุณหญิงสุดารัตน์" ในวาระนี้ ชี้ได้ว่าหัวหน้า"พรรคไทยสร้างไทย" คาดการณ์เกมนี้พ่วงไปถึงการลงมติเลือกสร.1ด้วย  รวมทั้งอาจหมายถึงโอกาสที่"พรรคไทยสร้างไทย"จะโดนเปลี่ยนให้ไปยืนเป็นฝ่ายค้านในวันข้างหน้าจะมีความเป็นไปได้สูง....

ตอนนี้ขั้ว 188 ส.ส.ยังไม่ขยับและอ้างว่าขอฟังผลจาก"พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย" ก่อน กอปรกับมีกระแสข่าวเป็นระยะว่า "พล.อ
ประยุทธ์  จันทร์โอชา"
และ"พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังวางกลยุทธ์ไว้อีกจังหวะหนึ่ง เพียงแต่รอเวลาที่"พรรคสีส้ม"เดินหน้าไม่ได้ก่อนส่งมอบให้พรรคอันดับสองคือ"เพื่อไทย"ขยับแทน 

บนความเป็นจริง หาก"พรรคเพื่อไทย"ขยับและยังมี"พรรคก้าวไกล"เคียงข้าง โอกาสของ"พรรคเพื่อไทย"แทบไม่แตกต่างกับจังหวะที่"พรรคก้าวไกล"ขยับเลย   

พูดง่ายๆหาก"พรรคสีส้ม"ยังยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทย "พรรคสีแดง"จะเจอปัญหาคล้ายๆกับ"พรรคสีส้ม" เพียงแต่อาจจะเบาบางกว่า ดังนั้นเส้นทางสะดวกในวันข้างหน้าหาก"พรรคสีแดง"ต้องการเข้าสู่ถนนแห่งอำนาจและการเจรจาในวาระลับบางเรื่องนั้น 

เกมแรกที่จะเปลี่ยนคือ เก้าอี้"ประธานสภาผู้แทนฯ"จะไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล แต่จะเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคที่สามนั้น รอการโยนไพ่ของขั้ว 188 ส.ส.ในวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม ว่าจะเสนอชื่อใครเข้าชิงหรือไม่  แต่ภารกิจหลักของ"พรรคเพื่อไทย" คือ คว้าเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯมาให้ได้

ไม่กี่อึดใจข้างหน้า การเมืองไทย 2566 จะเดินตามจังหวะ 8 พรรคกำหนดไว้ หรือ พลิกสมการการเมืองใหม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ "พรรคสีส้ม-พรรคสีแดง"เป็นสำคัญ

\"ก้าวไกล - เพื่อไทย\"ยื้อแย่งเก้าอี้\"ประธานสภา\"โอกาสพลิกสร้างสมการใหม่

logoline