svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อัปเดต"โอมิครอน BA.2.75" หมอธีระชี้กลายพันธุ์คาดเดายาก ห่วงภาวะ Long COVID

02 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"หมอธีระ" อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 "โอมิครอน BA.2.75" ระบุชัดกลายพันธุ์คาดเดายาก แต่เกิดLong COVID แน่นอน พร้อมเปิดแนวทางการป้องกันตัว

2 กรกฎาคม 2565 โควิดวันนี้ การแพร่ระบาดของ “โอมิครอน BA.2.75” ถูกจับตามากขึ้น ล่าสุด “หมอธีระ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” อัปเดตข้อมูล โอมิครอน BA.2.75 เทียบเคียงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ พร้อมแนะแนวทางป้องกันตัว มีรายละเอียดดังนี้..

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 481,365 คน ตายเพิ่ม 1,071 คน รวมแล้วติดไป 582,646,408 คน เสียชีวิตรวม 6,421,075 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย บราซิล และอิตาลี

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 81.25 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 68.16

 

อัปเดต"โอมิครอน BA.2.75" หมอธีระชี้กลายพันธุ์คาดเดายาก ห่วงภาวะ Long COVID

 

...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดต Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 (ชื่อเล่น: Centaurus)
Wang Q และทีมงานจาก Columbia University ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดใน bioRxiv เมื่อวานนี้ 1 สิงหาคม 2565

 

หากจำกันได้ BA.2.75 นี้พบครั้งแรกในอินเดีย มีการระบาดในประเทศมาก โดยค่อยๆ มีการกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก และเป็นที่จับตามองว่าอาจมาเบียด BA.5 ได้ในอนาคต เพราะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง
ผลการวิจัยประเมินสมรรถนะของ BA.2.75 พบว่า

 

  • 1. ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.2 ราว 1.8 เท่า (สมรรถนะการดื้อพอๆ กับ BA.2.12.1 ที่เคยระบาดมากในสหรัฐอเมริกา)
  • 2. ดื้อต่อภูมิคุ้มกันน้อยกว่า BA.5 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน 1.6 เท่า
  • 3. จับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ได้แน่นกว่าทุกสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่มีมา (ซึ่งในทางคลินิกแล้ว สมรรถนะการจับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ได้ดีอาจสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคได้เช่นกัน)

 

อัปเดต"โอมิครอน BA.2.75" หมอธีระชี้กลายพันธุ์คาดเดายาก ห่วงภาวะ Long COVID

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสนั้นยังทำนายได้ค่อนข้างยากว่าจะไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง สมรรถนะการแพร่เชื้อ รวมถึงการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

 

สำหรับคำถามว่า BA.2.75 จะระบาดมากขึ้นจนเบียด BA.5 ได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังต้องติดตามกันต่อไป ประเทศต่างๆ ที่มี BA.2.75 อยู่นั้นมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ยังไม่พรวดพราด
 

...ปัญหา Long COVID
ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น อเมริกา สหราชอาณาจักร นั้นมีการติดเชื้อโรคโควิด-19 มากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้รับผลกระทบจากปัญหา Long COVID อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน 

 

ระบบงานที่จะได้รับผลกระทบมีหลากหลาย ทั้งในเรื่องงานที่ใช้แรงงาน งานบริการ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องคิดวิเคราะห์ตัดสินใจ ผลกระทบจะเกิดขึ้นให้เห็นในตัวผู้ป่วยแต่ละคน ก่อนที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว และสุดท้ายจะเกิด Collective forces ที่ส่งผลให้เห็นเรื่องผลิตภาพจากการทำงานโดยรวมขององค์กร/หน่วยงาน และประเทศ พร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระยะยาวกับทุกระดับ

 

ดังนั้น ประชาชนจึงควรติดตามองค์ความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อมาก่อน กำลังติดอยู่ หรือยังไม่เคยติดเชื้อก็ตาม การเตรียมแผนการชีวิตไว้ล่วงหน้าทั้งสำหรับตนเองและสมาชิกในครอบครัวจะเป็นประโยชน์

 

ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID ยังไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพ  การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ รวมถึงคนที่เคยติดมาก่อนก็ควรป้องกันไม่ให้ติดซ้ำ

 

การฉีดวัคซีนครบโดสจะช่วยลดโอกาสเกิด Long COVID ได้ราว 15% ยังไม่มีวิธีอื่นใดที่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานสากลว่ามีผลในการป้องกันและรักษาได้ นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นยา อาหารเสริม สมุนไพร หรืออื่นๆ 

 

หากจับพลัดจับผลูเป็น Long COVID ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และให้การดูแลรักษา หรือฟื้นฟูสภาพ พร้อมคำแนะนำ 

 

การดูแลสุขภาพตนเองตามหลักการทั่วไป เช่น กินอาหารครบหมู่ นอนพักผ่อนให้พอ ดูแลจิตใจและอารมณ์ รวมถึงการออกกำลังกายนั้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปควรปฏิบัติเป็นกิจวัตร แต่ต้องเน้นย้ำว่ายังไม่มีการพิสูจน์เรื่องผลต่อ Long COVID โดยตรง

 

...สุดท้าย เรื่องสำคัญ

การเข้าถึงยารักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานการแพทย์สากลนั้นสำคัญมากในการควบคุมป้องกันโรคระบาด และดูแลรักษา

 

ยามวิกฤติ ที่ใดที่ระบบบริการไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นได้ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ ความล่าช้า ความไม่เป็นธรรม และอื่นๆ จนนำมาซึ่งการต้องดิ้นรนหากันเอง

 

ขอให้ระมัดระวังเรื่องยาปลอมให้ดี เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ การใช้ยาใดๆ ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้คำแนะนำจนมีความรู้ความเข้าใจดีเกี่ยวกับสรรพคุณ วิธีการใช้ เรื่องที่ควรระมัดระวัง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อหายามากินเองจะมีความอันตราย หากไม่มีความรู้ดีพอ ก็คงต้องช่วยกันเตือน พร้อมกับการปรับปรุง พัฒนา จัดระบบบริการให้ดีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของสังคม

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละสังคมแต่ละประเทศคงทราบดีว่า "อะไร"ที่อันตรายที่สุด และวิกฤติความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมายนั้นมาจาก"เหตุ"ใด อนาคตต้องช่วยกัน"ป้องกัน"ไม่ให้เกิดขึ้นอีก 

 

อ้างอิง
1. Wenseleers T. SARS-CoV-2 Lineage Frequencies. 1 August 2022. 
2. Wang Q et al. Antigenic characterization of the SARS-CoV-2 Omicron subvariant BA.2.75. bioRxiv. 1 August 2022.
3. The long haul: When COVID-19 symptoms don’t go away. NIH Medlineplus. 1 August 2022.
 

logoline