svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดปูมหลัง"ศึกซักฟอก" 44 ครั้งกับมหกรรมตรวจสอบข้นคว่ำรัฐบาลได้จริงหรือ?

15 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชื่อเต็ม คือ "การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ" ถือว่าเป็นกลไกร้ายแรงที่สุดของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการตรวจสอบ ควบคุม และถ่วงดุลฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา จากอดีตสู่ปัจจุบันเขย่ารัฐบาลได้เพียงใด

 

แต่กลไกการควบคุมรัฐบาลโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ได้มีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ เพราะจากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่ามีรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ จากจำนวนรัฐธรรมนูญถาวร ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ทั้งหมด 20 ฉบับ ที่บัญญัติให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

 

ส่วนรัฐธรรมนูญที่เป็น "ธรรมนูญการปกครอง" หลังยึดอำนาจ ส่วนใหญ่จะไม่มีบัญญัติเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเอาไว้ 

 

จากข้อมูลของรัฐสภา ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 44 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 45 / แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง ไม่เคยมีใครไหนเลยที่ฝ่ายรัฐบาล หรือรัฐมนตรีพ่ายแพ้ในการลงมติ จนต้องลาออกหรือพ้นจากตำแหน่ง แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หลายครั้งเหมือนกัน ได้แก่ 

 

เมื่อปี 2490 ในรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ยุค นายควง อภัยวงศ์ ได้ยื่นญัตติซักฟอก และอภิปรายยาวนานถึง 8 วัน 7 คืน ซึ่งถือว่ายาวที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้หลังการอภิปราย สภาจะลงมติไว้วางใจ แต่ถัดจากนั้นเพียง 2 วัน พล.ร.ต.ถวัลย์ ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ 

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2523 ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และฝ่ายค้านนำโดย นายสมัคร สุนทรเวช ยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชิงลาออก ทำให้ไม่ได้อภิปราย และญัตติตกไป จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2538 รัฐบาล นายชวน หลีกภัย ฝ่ายค้านนำโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ยื่นญัตติซักฟอกในประเด็นการแจกเอกสารสิทธิ์ สปก.4-01 ให้กับคนร่ำรวยที่ไม่ใช่เกษตรกร โดยยื่นอภิปรายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมรัฐมนตรีช่วย (นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ปรากฏว่า นายชวน ตัดสินใจยุบสภาก่อนการอภิปราย จึงไม่มีการอภิปราย แต่นายนิพนธ์ กับนายสุเทพ ก็ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านั้น 

 

 

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2539 รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ฝ่ายค้านนำโดย นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นอภิปรายนายบรรหาร หลายเรื่อง มีการเจรจาต่อรองให้ลงมติกันวุ่นวาย แม้สุดท้ายจะผ่านไปได้ แต่นายบรรหาร ก็ตัดสินใจยุบสภาในเวลาต่อมา 

 

นี่คือผลสะเทือนที่เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่ใช่แค่การ "เขียนเสือให้วัวกลัว" แต่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้วจริงๆ หลายครั้ง ส่วนครั้งนี้ ซึ่งเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และของสภาชุดนี้ ผลจะเป็นอย่างไร คงต้องรอลุ้นกัน

 

 

logoline