svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สหรัฐฯ เร่งทำคะแนนอาเซียนหวังพิชิตจีน

13 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในขณะที่การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนนาน 2 วัน เปิดฉากขึ้นที่กรุงวอชิงตันดีซี เราไปย้อนดูความพยายามของสหรัฐฯ "ใช้เงินนำร่อง" ทำคะแนนกับอาเซียนเพื่อสกัดการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ว่ามีอะไรบ้าง

ความช่วยเหลือด้านการเงิน 

 

นับตั้งแต่ปี 2545 สหรัฐฯ ได้กระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านความเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สุขภาพ และความมั่นคง มากกว่า 12,100 ล้านดอลลาร์ และในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ ที่ครอบคลุมการช่วยชีวิต ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ ความช่วยเหลือด้านอาหารฉุกเฉิน และการสนับสนุนผู้ลี้ภัยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในการของบประมาณปี 2566 ของรัฐบาลไบเดน ได้รวมถึงความช่วยเหลือระดับทวิภาคีมูลค่ากว่า 800 ล้านดอลลาร์ แก่พันธมิตรอาเซียนและอีก 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาเซียนในการรับมือความท้าทายระดับภูมิภาคที่เร่งด่วน

 

ความร่วมมือทางการค้า 

 

สหรัฐฯ กับอาเซียน ยังได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการค้า อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก และสหรัฐฯ เป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน ขณะที่การค้าแบบ 2 ทาง มีมูลค่าสูงกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2563 

 

การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับประชาชน 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน ยังรวมถึงมิตรภาพพิเศษที่มีร่วมกันของผู้คนรวมกันกว่า 1,000 ล้านคน ภายใต้โครงการ 7,000 โครงการ โดยมี American Spaces ซึ่งเป็นโครงการหลักของสำนักงานสารนิเทศของกระทรวงต่างประเทศอยู่ 83 แห่ง ในอาเซียน, มีศิษย์เก่า 155,000 คน ของ "Young Southeast Asian Leaders Initiative" และการเชื่อมต่อผ่านวีซ่าเข้าสหรัฐฯ 6 ล้านครั้ง รวมถึงวีซ่านักเรียน โดยนับตั้งแต่ปี 2553 สหรัฐฯ อนุมัติวีซ่าให้นักเดินทางชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 6 ล้านคน 

 

สหรัฐฯ เร่งทำคะแนนอาเซียนหวังพิชิตจีน

เปิดศักราชใหม่ใช้เงินนำร่อง 150 ล้านดอลลาร์ 

 

การเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วน ถูกนำร่องด้วยการเสริมยุทธศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ตลอดจนแนวโน้มของสหรัฐฯ กับอาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (United States and the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) โดยไบเดนได้ประกาศโครงการริเริ่มมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์ (5,200 ล้านบาท) ที่คาดว่าจะระดมเงินได้อีกหลายพันล้านดอลลาร์จากภาคเอกชน ที่นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนแข็งแกร่งขึ้น แต่ภาพรวมแล้วก็คือหวังอาศัยอาเซียนในการสกัดการขยายอิทธิพลของจีนนั่นเอง 

 



รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

เพื่อเป็นการสนับสนุน U.S.-ASEAN Climate Futures และ U.S.-ASEAN Economic Futures ทั้งสองฝ่ายยังคงทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงอาเซียน 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกิดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูง โปร่งใส ยั่งยืน และมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมการค้าการลงทุน และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่มั่นคงและฟื้นตัวได้เร็ว และความเชื่อมโยงไร้รอยต่อในภูมิภาค 

 


การลงทุนผ่านโครงการพลังงานอัจริยะ 

 

สหรัฐฯ ทุ่ม 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดหาเงินทุนแบบผสมผสานมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดแห่งเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการพลังงานอัจฉริยะที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ และเสริมสร้างระบบพลังงานของภูมิภาคและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

 

สหรัฐฯ เร่งทำคะแนนอาเซียนหวังพิชิตจีน

โครงการริเริ่มเพื่ออนาคตของป่าไม้ 

 

โครงการริเริ่มเพื่ออนาคตของป่าไม้ (U.S.-ASEAN Forest Future Initiative) เป็นความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า และเร่งการเปลี่ยนผ่านในระดับภูมิภาคไปสู่เศรษฐกิจป่าไม้ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาของสมาชิกอาเซียน โดยสหรัฐฯ ได้เปิดแพลตฟอร์มใหม่ "Forest Investor Club" และสมาชิกก็คือผู้นำจากภาคการเงินของสหรัฐฯ กับอาเซียน ตลอดจนหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, บริษัทด้านการเกษตรและป่าไม้และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูป่าและใช้ที่ดินด้วยความรับผิดชอบ 

 


ดึงดูดใจด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านการขนส่ง 

 

นอกจากเรื่องเงินแล้วสิ่งที่สหรัฐฯ มั่นใจว่าจะสร้างความประทับใจให้อาเซียนไม่น้อยก็คือ การเป็นหุ้นส่วนเจรจาด้านการขนส่งระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน (The U.S.-ASEAN Transportation Dialogue Partnership) โดยกระทรวงคมนาคมจะเปิดตัวโครงการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ที่ส่งเสริมความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค และเทคโนโลยีการขนส่งอุบัติใหม่ ด้วยความหวังในเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทางระหว่างกัน 

 


โครงการริเริ่มของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพระดับโลก 

 

สหรัฐฯ อ้างว่ากำลังทำงานเพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านสุขภาพของประเทศในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนการฝึกอบรมและปกป้องบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพระดับโลก (Administration Global Health Worker Initiative) ที่เพิ่งประกาศใหม่ โครงการนี้ยังครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพทางคลินิกและในชุมชน ต่อต้านการเลือกปฏิบัติในบุคลากรด้านสาธารณสุข ต่อผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ และสนับสนุนการฝึกอบรมการบรรเทาโรคโควิด-19 ส่งเสริมวัคซีนสำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน 

logoline