svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"วันเมย์เดย์” 1 พ.ค. ฟังเสียง"แรงงาน" เดือดร้อน!!

30 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และอดีตประธาน คสรท. นายชาลี ลอยสูง ให้สัมภาษณ์กับเนชั่นทีวี สะท้อนปัญหาที่พี่น้องแรงงานต้องเผชิญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กับข้อเรียกร้องที่ส่งไปถึงรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาปากท้องค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงที่ต่ำ

นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้(1พ.ค.)จะเป็นวันแรงงาน ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จะมีการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามที่สมควรจะได้รับ เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่ราคาแพงมากขึ้น โดยนัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ตรงประตู 5 ในช่วงเวลา 08.00น. เช้า 

 

นายชาลี บอกว่า ทางศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน ได้มีการรวมตัวกันของสมาพันธ์เครื่องใช้ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทยกันมานาน มีสมาชิกกว่า 80,000 คนทั่วประเทศ และบางส่วนเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยด้วย โดยมีการประสานงานการทำงานระหว่างต่างประเทศ ที่เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยทำให้เกิดความเข้มแข็ง ทำให้แรงงานมีที่อยู่เป็นตัวเป็นตน ที่นี่ถือว่าเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน พร้อมแก้ปัญหาให้กับแรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากนายจ้าง รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานด้วย

"วันเมย์เดย์” 1 พ.ค. ฟังเสียง"แรงงาน" เดือดร้อน!!

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ตนและสมาชิกเคยได้ไปยื่นหนังสือกับ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอเสนอปรับค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำจากสภาวะเงินเฟ้อทั้งประเทศและทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนทำให้เกิดการจ้างงาน ควบคุมอัตราการว่างงานได้ เป็นสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ทว่าครั้งสุดท้ายของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคาตามเขตพื้นที่ ตั้งแต่ 313 บาท 315 บาท 320 บาท 323 บาท 324 บาท 325 บาท 330 บาท 331 บาท 335 บาทและ 336 บาท 

แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันปลายปี 2564 ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid 19 ที่ทำให้รัฐบาลและผู้ประกอบการบางแห่ง อ้างว่าระบบการผลิตการจ้างงานรวมทั้งระบบเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ บางแห่งต้องปิดกิจการ ทำให้เกิดการเลิกจ้าง แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อาศัยสถานการณ์โควิด ปลดเลิกจ้างคนงาน โดยไม่จ่ายเงินและยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จนกระทั่งเดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งที่อัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา 

 

นายชาลี บอกด้วยว่า ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาทและ 700 บาทโดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2560 ซึ่งเหตุผลในการขอปรับเพิ่ม มาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละคนได้รับความเดือดร้อนจากค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัวด้วยซ้ำ

 

"ตนจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อการปรับค่าจ้างโดยรัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรม ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ 3 คน รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั้งประเทศและให้มีผลกับลูกจ้างคนทำงานในทุกภาคส่วน ทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนรักษาการจ้างงานเอาไว้เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ"  

 

อีกทั้งข้อเสนอให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง คือ สัญญาการจ้างระยะสั้น ชั่วคราว  รัฐบาลต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และให้ปรับค่าจ้างทุกปี ที่สำคัญต้องออกมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง รวมทั้งเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตของคนงานต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน และควรปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละกองทุนของประกันสังคมให้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะชราภาพต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนเดือนสุดท้าย ต้องขยายอัตราขั้นสูงสุดของค่าจ้าง ที่ใช้คำนวณเพื่อจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 15,000 บาท เพิ่มเป็น 30,000บาท  และในส่วนของแรงงานนอกระบบ รัฐต้องกำหนดมาตรการในการคุ้มครองดูแลทั้งเรื่องค่าจ้างสวัสดิการหลักประกันทางสังคม ต้องไม่แตกต่างจากแรงงานในระบบ

 

ขณะที่หนึ่งในผู้ใช้แรงงาน สะท้อนความคิดเห็นว่า ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 300 กว่าบาท ไม่เพียงพอ ต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าห้อง นี่ยังไม่นับรวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่นเนื้อหมู ไก่ ไข่ มาม่า น้ำมัน เป็นต้น และถ้าหากวันไหนไม่ได้ทำโอทีหรือล่วงเวลา ก็จะยิ่งได้รับความเดือดร้อน ตนจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เพียงพอเหมาะสม ต่อการใช้ชีวิตของคนคนนึงในแต่ละวัน เพื่อให้สามารถเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัวได้อย่างไม่ติดขัด

"วันเมย์เดย์” 1 พ.ค. ฟังเสียง"แรงงาน" เดือดร้อน!!

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้กลุ่มแรงงานได้เตรียมพร้อมพวกป้ายเขียนข้อความข้อเรียกร้องต่างๆ โดยเฉพาะการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาค่าครองชีพสินค้าอูปโภคบริโภคแพงขึ้น และการเพิ่มสวัสดิการด้านต่างๆ ที่จะนำไปเดินขบวนในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. พรุ่งนี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

 

"วันเมย์เดย์” 1 พ.ค. ฟังเสียง"แรงงาน" เดือดร้อน!!

 

"วันเมย์เดย์” 1 พ.ค. ฟังเสียง"แรงงาน" เดือดร้อน!!

 

"วันเมย์เดย์” 1 พ.ค. ฟังเสียง"แรงงาน" เดือดร้อน!!

 

 

logoline