svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

แชมป์เล่าเรื่องภาษาถิ่นใต้ กว่าจะถึงวันนี้ "วิมลรัฐ อรุณโชติ"

27 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดชีวิต ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ แชมป์เล่าเรื่องภาษาไทยถิ่นใต้ การพูดในหัวข้อ”วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน” ผ่านการสนับสนุนของครอบครัว ให้สาวน้อยคนนี้ ได้เข้าถึง เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ในทุกครั้งที่มีกิจกรรมสำคัญ ที่จัดขึ้นทุกปี

“หลังสวน เมืองผลไม้ พายเรืองแข่ง แหล่งเรียนกวน สวนสมเด็จ หวัดดีค่ะ ชื่อเด็กหญิงวิมลณัฐ อรุณโชติ อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 โรงเรียนสวนศรีวิทยา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร วันนี้นะลูกจะมาเล่าให้รู้จักหลังสวน ลูกนี่นะเป็นคนหลังสวนแท้ ๆ มาตั้งแต่สมัยพ่อปู่แม่ย่าโน้น ตอนลูกเอียด ๆ พ่อปู่แม่ย่าก็จะอิแหลงความเป็นมาของหลังสวนให้ลูกฟังอยู่บ่อย ๆ จนลูกได้ซึมซับภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนหลังสวน”

 

เสียงใสซื่อของ ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ โรงเรียนสวนศรีวิทยา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เจ้าของรางวัลชนะเลิศการประกวดแข่งขันการพูดเล่าเรื่องภาษาไทยถิ่น ภาคใต้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.1-3) กล่าวแนะนำตัวเองต่อคณะกรรมการตัดสินฯ พร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของอ.หลังสวน จ.ชุมพร จากการพูดในหัวข้อ ”วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน” ในโครงการการประกวดเล่าเรื่องภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น หัวข้อ”ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม” จัดโดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ณ โรงแรมต้นอ้อย แกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับภาคใต้มาครองในที่สุด

แชมป์เล่าเรื่องภาษาถิ่นใต้  กว่าจะถึงวันนี้ "วิมลรัฐ อรุณโชติ"

เธอเผยความรู้สึกภายหลังได้รับรางวัลชนะเลิศว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก เกินความคาดหมายจริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดอะไร แค่อยากมาหาประสบการณ์เท่านั้น แต่พอรู้ว่าได้รางวัลชนะเลิศ ก็ดีใจมากๆ  ตอนที่คุณครูเรียกมาให้เข้าร่วมประกวด แม้จะรู้สึกดีใจ ก็แต่ก็รู้สึกกังวลไม่น้อย เพราะรู้ตัวดีว่าเราไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ก็ตั้งใจว่าเมื่อคุณครูไว้วางใจ เราก็จะพยายามทำให้เต็มที่ ส่วนหัวข้อที่พูดก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราได้เห็น ได้สัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ

กล่าวสำหรับด.ญ.วิมลณัฐ ที่เล่าเรื่องเป็นภาษาถิ่นใต้จนชนะใจกรรมการฯ ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารในครอบครัวในชีวิตประจำวันนั้นปกติจะพูดภาษาถิ่นใต้เป็นปกติอยู่แล้ว ทำให้เมื่อถูกเสนอให้เข้าประกวดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับเธอ แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือแรงบันดาลใจจากพ่อปู่และแม่ย่า จึงทำให้เธอชอบและคลั่งไคล้ในภาษาถิ่นใต้โดยไม่รู้ตัว

 

ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติกับคุณพ่อณัฎฐเอก อรุณโชติ

“หนูได้แรงบันดาลใจมาจากพ่อปู่กับแม่ย่าค่ะ เนื่องจากจะพูดคุยสื่อสารภาษาใต้กับสองคนนี้บ่อยมาก สองคนนี้ถือเป็นไอดอลของหนูเลย”ด.ญ.วิมลณัฐเผยความรู้สึกต่อพ่อปู่แลแม่ย่าของเธอ

 

นอกจากปู่กับย่าถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับตัวเธอและปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะคุณพ่อ ณัฎฐเอก อรุณโชตินั้นได้พยายามสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกโอกาส ส่งเสริมให้ลูกสาวคนนี้ได้เข้าถึง เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นบนแผ่นดินเกิดในพื้นที่อำเภอหลังสวน และทุกครั้งที่ทางอำเภอมีงาน มีกิจกรรมสำคัญ โดยเฉพาะงานประเพณีแข่งเรือชักพระงานบุญออกพรรษา การแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นทุกปี คุณพ่อจะพาลูกสาวมาเกาะติดอยู่ริมขอบสนามแม่น้ำหลังสวนทุกปีเช่นกัน

 

“ดีใจมากครับ ถือเป็นสิ่งแรกเป็นปีแรกที่เขาได้ทำตอนเข้า ม.1 และเป็นผลงานแรกของเขาด้วย ปกติเวลาอยู่บ้านก็จะสื่อสารกันเป็นภาษาใต้กันอยู่แล้ว ส่วนกิจกรรมที่ทำร่วมกันก็จะปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรม พาลูกไปวัดตั้งแต่เขายังเล็ก ๆ เวลามีเทศกาล มีประเพณีงานแห่พระแข่งเรือ ที่บ้านทั้งคุณพ่อคุณแม่หรือคุณปู่คุณย่าของเขาก็เป็นคนชอบประดิษฐ์ประดอยเรือพระเข้าประกวดแล้วไปช่วยงานในวัด สิ่งเหล่านี้เขาได้ซึมซับนำมาสู่การเล่าเรื่องในครั้งนี้”

ณัฎฐเอก อรุณโชติ บิดาด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ กล่าวถึงลูกสาวคนเก่ง พร้อมยอมรับว่าการที่เขามาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เพราะครอบครัวอย่างเดียว แต่มาจากโรงเรียน คุณครูผู้สอน และตัวนักเรียนเองด้วย ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย

ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติกับคุณครูผู้ฝึกสอน

ขณะเดียวกันโรงเรียนสวนศรีวิทยาและคุณครูที่ปรึกษานายนัสธี ศิริโพธิ์ ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติก้าวมาถึงจุดนี้ได้ โดยเฉพาะการหาคำภาษาถิ่นใต้ที่ถูกต้องแล้วนำมาเทียบเคียงกับคำภาษาไทยกลางมาตรฐานเพื่อไม่ให้การใช้ภาษาของเด็กนักเรียนผิดเพี้ยนไป โดยการไปศึกษาหาข้อมูลจากคนแก่คนเฒ่า ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำมาถ่ายทอดสู่เด็กนักเรียน อีกทั้งยังพาเด็กนักเรียนเหล่านี้ไปสัมผัส พูดคุยกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้อีกด้วย

 

อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้กล่าววิจารณ์การพูดเล่าเรื่องของเธอในการประกวดครั้งนี้ว่า เสียงดังฟังชัดดี มีท่วงทำนองลีลาประกอบการพูดทำได้ดีมา เป็นสำเนียงภาษาถิ่นชุมพรแท้ มีเสียงต่ำเสียงสูงเหมาะสม ลำดับเรื่องพูดได้ดี น้ำเสียงดึงดูดผู้ฟังเกิดความเร้าใจ ที่สำคัญใช้ศัพท์ภาษาถิ่นใต้ได้มากกว่าผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ อนาคตเป็นนักพากษ์การแข่งเรือได้สบายมาก

ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ รับรางวัลจากนายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา

 

“จุดเด่นของเด็กคนนี้ใช้คำภาษาใต้ได้มากกว่าเด็กคนอื่นแล้วก็ลำดับขั้นตอนได้ดี เล่าเรื่องได้น่าสนใจ มีน้ำเสียงการพูดที่น่าฟัง ตอนดูจากคลิปในรอบคัดเลือก เขาทำได้ดีกว่านี้มาก แต่ครั้งนี้อาจจะประหม่าไปหน่อย ทำให้ทำได้ไม่ดีเท่ารอบแรก แต่ก็ดีกว่าผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ ทั้งหมด”อาจารย์ชะเอม เผยจุดเด่น พร้อมฝากไปยังสำนักงานราชบัณฑิตยสภาว่าในปีต่อ ๆ ไปน่าจะจัดมีการจัดประกวดเล่าเรื่องภาษาถิ่นในทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถม มัธยมและอุดมศึกษาเพื่อคงไว้ซึ่งการอนุรักษาไทยถิ่นเอาไว้ เนื่องจากทุกวันนี้ภาษาไทยถิ่นแท้กำลังจะสูญหาย เพราะส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยกลางมาตรฐาน แต่ใช้สำเนียงไทยถิ่น จึงไม่ใช่คำที่เป็นภาษาไทยถิ่นแท้ อย่างเช่นภาษาไทยกลางมาตรฐานคำว่า ทำอะไร ถ้าภาษาไทยถิ่นใต้ต้องพูดว่า ทำไอ้ไหร อย่างนี้เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประกวดแข่งขันครั้งต่อไปจะเป็นภาษาถิ่น ภาคเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซต์ เชียงใหม่ ส่วนภาคอีสาน จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์, และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ อยุธยา

 

ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 และรองชนะเลิศอันดับ2 จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป

logoline