svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศบค.เรียกถกสัปดาห์หน้ารับมือโควิดหลังเทศกาลสงกรานต์

17 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาฯ สมช. ระบุ สถานการณ์ภาพรวมสงกรานต์ได้รับความร่วมมือจากปชช. - เอกชนเป็นอย่างดี ขณะที่นายกฯ เน้นย้ำ 7 วันหลังเดินทางกลับ เฝ้าระวังสังเกตอาการ -ตรวจ  ATK พร้อมสั่งยกระดับแผนรองรับผู้ป่วย ก่อนเรียกศบค.ถกสถานการณ์อีกครั้งในสัปดาห์นี้

17 เมษายน 2565 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ แนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องด้วยสถานการณ์เทศกาลสงกรานต์จนถึงปัจจุบันในภาพรวม ถือว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนเป็นอย่างดี

 

ขณะที่ส่วนราชการต่างๆ ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันตามนโยบายและข้อสั่งการต่างๆ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบไว้ โดยให้ดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตั้งแต่การเดินทาง การจัดกิจกรรมสงกรานต์ และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หลังสงกรานต์

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังมีความห่วงใย และขอเน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วน ขอให้ความสำคัญกับช่วง 7 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.- 24 เม.ย.นี้ ขอให้ทุกคนที่ได้ร่วมกิจกรรมและเดินทางในช่วงสงกรานต์ได้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองและครอบครัว รักษาระยะห่าง หากไม่มั่นใจขอให้ตรวจ ATK ด้วยตนเองหรือขอเข้ารับการตรวจ ณ จุดบริการที่ทางราชการจัดตั้งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

 

เลขฯ สมช. กล่าวต่อว่า หากพบว่าติดเชื้อขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขได้ออกไว้ให้อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ มาตรการที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันได้เป็นอย่างดีคือการร่วมมือกันบริหารจัดการให้มีการทำงานที่บ้าน หรือ Work from home ของทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดอย่างได้ผล 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ให้จัดให้มีบริการการตรวจ ATK ให้ประชาชาเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งให้กำกับการยกระดับแผนการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระดับต่างๆ ตามที่ได้เคยสั่งการไว้แล้ว ให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการรับแจ้ง การคัดกรอง การบริหารจัดการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) การบริหารจัดการสถานที่กักตัวในระดับชุมชน (Community Isolation) โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามระดับต่างๆ ตลอดจนโครงการเจอแจกจบที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ลดลงนั้น เรื่องนี้นายกฯได้ติดตามและสั่งการให้มีการเตรียมการในทุกวิถีทางมาตั้งแต่ต้น และผู้เสียชีวิตร้อยละ 90 ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้กำชับให้มีการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมาก มีการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ได้ระมัดระวังและเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องทำความเข้าใจและรณรงค์อย่างกว้างขวางต่อไป เพื่อป้องกันให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสื่อมวลชนทุกสาขา ช่วยการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจและรณรงค์ให้อย่างกว้างขวางด้วย

 

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์ในระยะต่อไป คาดว่า ศบค.จะเรียกประชุมคณะกรรมการภายในสัปดาห์นี้ เพื่อรับทราบและประเมินสถานการณ์ และพิจารณาแนวทางต่างๆ เพิ่มเติม อีกทั้ง จะมีการพิจารณาสิ่งที่ต้องเตรียมการสำหรับอนาคต ที่ นายกฯได้สั่งการไว้คือ การเตรียมความพร้อมของการเปิดภาคเรียน และการปรับมาตรการการเข้าออกประเทศทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน

 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ การประเมินสถานการณ์ในภาพรวม การประเมินความร่วมมือในการปรับตัวของประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการพิจารณาเงื่อนไขและความสอดคล้องที่จะนำไปสู่แผนการปรับโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นในระยะยาวควบคู่ไปด้วย

 

logoline