svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

16 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สงครามรัสเซีย- ยูเครน มาพร้อมกับคำว่าอาชญากรสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะมีผู้นำของโลกหลายคนกำลังประนามรัสเซียโดยเฉพาะประธานาธิบดีปูตินว่าเป็นอาชญากรสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องโหดแค่ไหนจึงจะเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

 

รัฐบาลสหรัฐและยูเครนกำลังกล่าวหารัสเซียว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน แต่ข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีคำจำกัดความตามกฏหมายที่ไม่ง่ายนักในการตีความและพบว่าเมื่อเรื่องถึงศาลแล้วมีกรณีเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่มากนัก

 

ในอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 ให้คำจำกัดความคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมที่มีเจตนาเพื่อทำลายท้ั้งหมดหรือบางส่วนด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติหรือกลุ่มศาสนาเป็นต้น
ในอดีดพบว่ามีกรณีเข้าข่ายของศาลระหว่างประเทศ 3 กรณีคือปฏิบัติการของกลุ่มเขมรแดงที่สังหารชนกลุ่มน้อยชาวจามและเวียดนามในทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเหยื่อสังหารประมาณ 1.7 ล้านคนที่เสียชีวิต  
อีกกรณีหนึ่งคือการสังหารหมู่ชาวทุตซี่ในรวันดาในปี 1994 ที่มีผู้เสียชีวิต 8 แสนคน และในปี 1995 การสังหารหมู่ชาวมุสลิมและเด็กประมาณ 8 พันคนในเมืองเซเบรนิกาของบอสเนีย

 

การก่ออาชญากรรมที่เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังรวมถึงการสังหารสมาชิกของกลุ่ม สร้างอันตรายอย่างร้ายแรงทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การทำลายป้องกันการเกิดใหม่ ใช้กำลังบีบบังคับเคลื่อนย้ายเด็กไปยังกลุ่มอื่น

 

เพื่อตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โจทก์จะต้องแสดงให้เห็นว่าเหยื่อเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติหรือกลุ่มศาสนานั้นๆ แต่ไม่รวมถึงกลุ่มที่มีความเชื่อทางการเมือง  การตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงยากกว่ากฏหมายการละเมิดมนุษยธรรมอื่นๆอย่างเช่นอาชญากรสงคราม หรือก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เพราะต้องมีหลักฐานที่ระบุเจตนาชัดกว่า

 

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

 

 

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

 

อัยการของยูเครนซึ่งได้สอบสวนข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมของรัสเซียมาตั้งแต่การผนวกไครเมียของรัสเซียในปี 2014กล่าวว่าพวกเขาได้สอบสวนการกระทำของกองทัพรัสเซียหลายพันกรณีที่อาจจะเข้าข่ายอาชญากรสงครามนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์โดยมีผู้ต้องสงสัยหลายร้อยคน มีการค้นพบศพนับร้อยศพในเมืองบูชานับต้้งแต่รัสเซียถอนทัพออกไปสร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งโลก แต่รัสเซียยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนกรานว่าเป็นเพียง fake news หรือข่าวเท็จ

 

ทั้งประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนและประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐต่างกล่าวหาทหารรัสเซียว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยมุ่งไปที่หลักฐานว่ามีการข่มขืน ทารุณและสังหารในพื้นที่รอบๆกรุงเคียฟที่ทหารยูเครนยึดคืนมาได้

 

ไบเดนกล่าวว่าต้องเรียกว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะมันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่าประธานาธิบดีปูตินกำลังพยายามทำลายความคิดที่ว่ามีชาวยูเครนอยู่ และหลักฐานก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ขณะทื่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งอังกฤษก็กล่าวว่าขนาดของความโหดร้ายไม่ไกลจากคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หนึ่งในตัวอย่างก็คือการโจมตีสถานีรถไฟที่เมืองครามาตอร์ส(Kramatorsk)ทางตะวันออกของยูเครนด้วยขีปนาวุธเมื่อวันที่ 8 เมษายนซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 57 คน บาดเจ็บ 109 คน แต่มอสโกปฏิเสธและอ้างว่าเป็นขีปนาวุธของยูเครนเอง

 

รัสเซียเรียกการโจมตีประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนและอ้างว่าชาติตะวันตกสร้างหลักฐานปลอมเพื่อใส่ร้ายกองทัพรัสเซีย

 

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

 

 

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

 

ปูตินกล่าวว่ามันก็เหมือนกับเหตุการณ์ที่ไม่มีใครจดจำว่ามีชาวอัฟกานิสถานนับพันคนถูกสังหาร เหตุการณ์ถล่มงานแต่งงานที่มีคนตายนับร้อย แล้วก็เงียบ แต่ที่ไม่เงียบก็คือการประโคมข่าวในซีเรียว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีอัดซาดแห่งซีเรียใช้อาวุธเคมีซึ่งต่อมาปรากฏว่าไม่จริง มันก็เหมือนเหตุการณ์ที่เมืองบูชาของยูเครน

 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 รัฐบาลสหรัฐเคยประกาศให้ 7 เหตุการณ์ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งได้แก่เหตุการณ์ในบอสเนีย รวันดา อิรัก จังหวัดดาร์ฟูของซูดาน การสังหารชาวเยซิดีในประเทศอิสลามโดยเฉพาะในอิรัก  การปราบปรามชาวมุสลิมโรฮินจาในเมียนมา และการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในจีน

 

ก่อนหน้านี้ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ อัล บาชีร์แห่งซูดาน แต่การพิจารณายังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถูกนำตัวมายังกรุงเฮก นอกจากนั้นยังพิพากษาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรวันดาซึ่งเป็นชาวฮูตู 12คนฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่  การตัดสินลงโทษฌอง ปอล อกาเยซู  อดีตนายกเทศมนตรีของรวันดาในปี 1998 ถือเป็นการตีความในคำจำกัดความของคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของศาลอาชญากรระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกปี 2018 ศาลร่วมระหว่างสหประชาชาติและกัมพูชาพิพากษาลงโทษแกนนำเขมรแดง 2 คนในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลังจากใช้เวลาหารือกันหลายปีว่าเหตุการณ์ทุ่งสังหารหรือ Killing Fields ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ซึ่งในที่สุดศาลตัดสินว่าเขมรแดงมีนโยบายที่จะจัดการชาวจามและชาวเวียดนามเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน

 

ส่วนอดีตแกนนำของยูโกสลาเวียหลายคนก็ถูกตัดสินฐานมีส่วนร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมืองเซเบรนิการะหว่างสงครามบอลข่านในทศวรรษ 1990 รวมถึงรัทโก มลาดิช ผู้บัญขาการทหารชาวเซิร์บและนายราโดวาน คาราจิก ผู้นำชาวเซิร์บ ส่วนอดีตประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิชแห่งยูโกสลาเวียเสียชีวิตระหว่างคุมขังก่อนสิ้นสุดการพิจารณาคดี
 

 

วิเคราะห์ ต้องโหดแค่ไหนจึงเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (คลิป)

 

 

logoline