svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิด 6 อาการผลกระทบ Long COVID พร้อมแนวทางบริโภคอาหารฟื้นฟูร่างกาย

11 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมการแพทย์ ระบุถึง 6 อาการในระบบร่างกายที่เกิดจาก Long COVID พร้อมแนะแนวทางการบริโภคและปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นฟูอาการหลังติดเชื้อโควิด-19

11 เมษายน 2565 กรมการแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ ภาวะลองโควิด (Long Covid) หรือ Post COVID-19 Syndrome คือ อาการที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ อาจมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือน โดยพบว่าอาการที่พบบ่อยมีถึง 6 ระบบ ดังนี้

 

1. ผลกระทบกับ ระบบประสาท พบได้ 27.33% ดังนี้ 

  • อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ

 

2. ผลกระทบกับ ระบบทางจิตใจ พบได้ 32.1% ดังนี้

  • นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า

 

3. ผลกระทบกับ ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบได้ 22.86% ดังนี้ 

  • เจ็บหน้าอก ใจสั่น

เปิด 6 อาการผลกระทบ Long COVID พร้อมแนวทางบริโภคอาหารฟื้นฟูร่างกาย

 

4. ผลกระทบกับ ระบบทางเดินหายใจ พบได้ 44.38% ดังนี้

  • หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง

 

5. ผลกระทบกับ ระบบผิวหนัง พบได้ 22.8% ดังนี้

  • ผมร่วง ผื่นแพ้

 

6 ผลกระทบกับ ระบบร่างกายทั่วไป พบได้ 23.41% ดังนี้

  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ

 

อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติดังกล่าวส่วนใหญ่หายได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

 

เปิด 6 อาการผลกระทบ Long COVID พร้อมแนวทางบริโภคอาหารฟื้นฟูร่างกาย

 

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุถึง อาการ Long COVID ว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30–50 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง 

 

ดังนั้น ผู้ป่วยลองโควิด-19 ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

 

“ หากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย ”

 

เปิด 6 อาการผลกระทบ Long COVID พร้อมแนวทางบริโภคอาหารฟื้นฟูร่างกาย

นอกจากนี้ ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ รวมทั้งบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ และกระเทียม เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ และยังช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

สิ่งสำคัญควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง

 

เปิด 6 อาการผลกระทบ Long COVID พร้อมแนวทางบริโภคอาหารฟื้นฟูร่างกาย

สำหรับ วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่ 

  1. วิตามินซี พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น ควรกินแบบสด หากนึ่งหรือผัด ควรใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ได้ดียิ่งขึ้น 
  2. วิตามินเอ เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม เช่น ตําลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก เป็นต้น 
  3. วิตามินดี ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด ไข่แดง เป็นต้น 
  4. วิตามินอี ได้แก่ ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน อะโวคาโด เป็นต้น
  5. แร่ธาตุสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องใน ตับ หอยนางรม ข้าวกล้อง เป็นต้น 

 

ควรงดอาหารฟาสฟู้ด

ขอบคุณข้อมูล : กรมการแพทย์, กรมอนามัย,  ฐานเศรษฐกิจ

logoline