svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นพ.ธีระ เผย จบเรื่องยาฆ่าพยาธิ ระบุ ผลการศึกษาพบ ไม่มีผลต่อการรักษาโควิด

31 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นพ.ธีระ เผย จบเสียทีกับเรื่องยาฆ่าพยาธิ ที่ก่อนหน้านี้ กระแสข่าวทั่วโลกรวมถึงไทย ยุให้คนใช้รักษาโรคโควิด-19 ระบุ ผลการศึกษาพบว่า Ivermectin ไม่ได้ช่วยลดปริมาณไวรัส ไม่ได้ช่วยลดอัตราการนอนรพ. การใช้บริการห้องฉุกเฉิน หรืออาการรุนแรงใดๆ

31 มีนาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุว่า ทะลุ 486 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,549,684 คน ตายเพิ่ม 3,759 คน รวมแล้วติดไปรวม 486,643,977 คน เสียชีวิตรวม 6,160,742 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้  เยอรมัน ฝรั่งเศส เวียดนาม และอิตาลี

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.64 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.34 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 42.13 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.55

 

สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก

 

จบเสียทีกับเรื่องยาฆ่าพยาธิ

หลายเดือนที่ผ่านมา มีการปั่นกระแสข่าวทั่วโลกรวมถึงไทยเราด้วย ยุให้คนใช้ยาฆ่าพยาธิมารักษาโรคโควิด-19

นพ.ธีระ เผย จบเรื่องยาฆ่าพยาธิ ระบุ ผลการศึกษาพบ ไม่มีผลต่อการรักษาโควิด

ล่าสุดวารสารทางการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine เผยแพร่ผลการวิจัย Randomized double-blind placebo-controlled trial เรื่องนี้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาฆ่าพยาธิ Ivermectin และยาหลอก ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ประเทศบราซิล

 

ผลการศึกษาพบว่า Ivermectin ไม่ได้ช่วยลดปริมาณไวรัส ไม่ได้ช่วยลดอัตราการนอนรพ. การใช้บริการห้องฉุกเฉิน หรืออาการรุนแรงใดๆ

 

ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อคำแนะนำยุยงให้ใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโรคโควิด-19 นะครับ

 

เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ...ทำในสิ่งที่ควรทำ

 

สถานการณ์การระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รุนแรง กระจายทั่ว ยืนยันว่ายากมากที่จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้

 

สำหรับคนที่ปกติดี การเตรียมอุปกรณ์จำเป็น หยูกยาพื้นฐาน และวางแผนจัดการตนเองหรือครอบครัวยามที่ฉุกเฉินเกิดปัญหาคนในบ้านติดเชื้อขึ้นมา และมีเบอร์ติดต่อ และฝหรือไลน์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่รู้จักเอาไว้ จะเป็นประโยชน์มากเวลาเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นมา และจะลดความเครียดกังวลไปได้ไม่มากก็น้อย

สถานการณ์ปัจจุบันคงเห็นแล้วว่า demand มากกว่า supply และนโยบายเกี่ยวกับการจัดระบบบริการดูแลผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวันนั้นยังมีปัญหามาก ทั้งเรื่องช่องทางการรับบริการ ยา รวมถึงกระบวนการสนับสนุน

 

สถานพยาบาลจำนวนมาก กำลังประสบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรฝ่ายสนับสนุนเกิดติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ในแต่ละวันจากการปฏิบัติการหรือจากการใช้ชีวิตประจำวันส่วนตัวกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว จำเป็นต้องลดการบริการลง

 

สวนทางกับนโยบาย "เจอ แจก จบ" ที่อาจส่งผลให้ประชาชนต้องมารับบริการที่สถานพยาบาลมากขึ้น แทนที่จะเป็นบริการแบบทางไกล นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ ทั้งในเรื่องภาระงานต่อบุคลากรและสถานพยาบาล ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพร่เชื้อ รวมถึงภาระค่าใช้จ่าย เวลา และความลำบากในการเดินทางสำหรับประชาชน

 

คงจะเป็นประโยชน์ หากทางศบค.ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ พิจารณาให้มีการประเมินแบบ 360 องศาทุกมิติ เพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายเจอแจกจบ มิใช่การประเมินความพึงพอใจในกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยและระยะสั้นไม่กี่วัน

 

...ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

 

คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ยังต้องป้องกัน เพราะติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ยังควรประเมินสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากผิดปกติ สมรรถนะร่างกาย ความคิดความจำ หรืออารมณ์แตกต่างไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันเวลา เพราะภาวะ Long COVID จะเกิดขึ้นได้

อ้างอิง

Reis G et al. Effect of Early Treatment with Ivermectin among Patients with Covid-19. NEJM. 30 March 2022.

logoline