svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี"จี้รัฐปรับโครงสร้างกยศ.ใหม่ไม่ให้กลายเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชน

30 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง"จี้รัฐปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่ส่งเสริมให้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ ชี้เท่ากับละเมิดสิทธิมนุษยชน

30 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

"ทวี"จี้รัฐปรับโครงสร้างกยศ.ใหม่ไม่ให้กลายเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

หนี้ กยศ. รัฐเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่หนี้นอกระบบหรือหนี้เอกชน

 

-ทำไมต้องไกล่เกลี่ย ?

 

-ทำไมไม่ยกเลิกเบี้ยปรับและดอกเบี้ย ?

 

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า ได้สั่งการให้มีการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ.ที่ยังไม่ถูกฟ้องจำนวน 170,000 ราย โดยกระทรวงยุติธรรมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือนมีเป้าหมายในการจัดเพื่อให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อ มีสถาบันการเงิน และหนี้ กยศ. ซึ่งทราบมาว่ามีการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีอากรของประชาชนจ้างบริษัทออร์แกนไนซ์ เป็นคนจัดงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 40 กว่าล้านบาท

จากข้อมูลที่ได้จากลูกหนี้ กยศ. ที่เข้าร่วมมหกรรมไกลเกลี่ย ได้ให้ข้อมูลว่า กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วน ได้แก่กลุ่ม ที่ถูกฟ้องมีคำพิพากษา ถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์และบางรายอยู่ระหว่างการประกาศขายทอดตลาด จำนวน 1.26 ล้านรายเศษ (ถ้ารวมถึงผู้ค้ำด้วยประมาณ 1.6 ล้านรายเศษ ) จะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าไกล่เกลี่ย หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ

 

ส่วนกรณีลูกหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องที่เข้าไกล่เกลี่ยนั่นพบว่า กยศ. มีการตรวจสอบสถานะหนี้คงค้าง หากนำเงินมาปิดยอดหนี้ ก็จะได้ลดในส่วนเบี้ยปรับ แต่ถ้าไม่ปิดบัญชี ก็จะนำเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับรวมกันเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งหมดแล้วให้ชำระให้หมดภายใน 3 ปี บันทึกไกล่เกลี่ยที่ลูกหนี้ได้รับก็ไม่มีรายละเอียดว่า เป็นหนี้เท่าไหร่ อะไรบ้าง มีแต่จำนวนเงินที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน

 

"ทวี"จี้รัฐปรับโครงสร้างกยศ.ใหม่ไม่ให้กลายเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ส่วนที่บอกว่าหากมีการชำระมาแล้ว 25 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้รับการปลดผู้ค้ำนั้น ผู้มาไกล่เกลี่ยในงานนี้ ก็ยังติดเงื่อนไขที่ต้องรอให้พรบ.กยศ.ที่อยู่ระหว่างแก้ไข มีผลบังคับใช้เสียก่อน ตาม พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2562 หรือการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องนั้น เปรียบเสมือนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัด คู่ความอีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับคดีได้ทันที จะเป็นการเร่งให้มีการบังคับคดีได้เร็ว เปรียบเสมือนหลอกลูกหนี้ให้มาถูกเชือด

 

 

ความจริงต้นต่อของปัญหาเกิดในยุค คสช. ที่ จัดทำ พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ขึ้นมาใหม่โดยยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาปี 2541 ที่เดิมกำหนดการคิดดอกเบี้ยต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสินที่วันนี้ไม่ถึง 25 สตางค์ หรือ 1 สลึง และกำหนดว่าหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จะคิดค่าปรับหรือไม่ก็ได้ (ถ้าคิดต้องไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี) แต่ใน พ.ร.บ. ปี 60 ไปคิดดอกเบี้ยเพิ่มเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี และเมื่อรวมกับเบี้ยปรับอีกร้อยละ 18 ต่อปี รวมเบี้ยปรับกับดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 25.5 ต่อปี ถือว่าสร้างกำไรสูงมาก

 

เท่านั้นยังไม่พอ ยังทำลายหลักการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ การทวงหนี้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ได้หมด บังคับให้ต้องเปิดเผยข้อมูล ซึ่งหนี้ปกติทั่วไปต้องไปขออำนาจศาลในการเปิดเผยข้อมูล แต่ กยศ. สามารถบุกเข้าถึงข้อมูลการเงินของลูกหนี้ได้เลย และที่สำคัญ มาตรา 50 ยังให้ กยศ. มีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้อื่นทำให้ พ.ร.บ.กยศ 2560 เปลี่ยนสภาพกองทุน กยศ. เป็นธนาคารพาณิชย์ หรือเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่ทำลายเจตนารมณ์กฏหมายเดิมอย่างสิ้นเชิงและทำให้ลูกหนี้ กยศ. ต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจนทุกวันนี้

 

ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังอยู่ในชั้นพิจารณาร่าง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กยศ. ที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงของพรรคประชาชาติและของรัฐบาลผู้เสนแก้ไข จำนวน 5 ร่างฯ ซึ่งมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งอาจมีการยกเลิกเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และปลอดภาระผู้ค้ำประกัน ให้กับผู้กู้ในปัจจุบันทั้ง 4.5 ล้านคน รัฐบาลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยที่เปรียบเสมือนเร่งรัดการทวงหนี้ กยศ. และสิ่งที่รัฐควรทำคือตรวจสอบการทำงานงานของ กยศ. ที่มีการใช้จ่ายเงินคุ้มค่า โปร่งใสตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของ กยศ. หรือไม่ และควรยกเลิกเบี้ยปรับและดอกเบี้ยที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 44 พ.ร.บ. กยศ. 2560 เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนและลดภาระให้กับลูกหนี้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด

 

โดยไม่ต้องให้ผู้กู้ต้องลำบากเข้าทำสัญญาไกล่เกลี่ยหนี้เป็นการซ้ำเติมปัญหา กองทุน กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย และรัฐมีหน้าที่ต้องจัดทุนการศึกษาให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในเรื่องการศึกษาที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจึงอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดหลักการสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการศึกษาที่ประเทศไทยรับรองไว้ด้วย

 

 

logoline