svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี สอดส่อง"ย้ำจุดยืนพรรคประชาชาติคือสถาบันการเมืองไม่ใช่อะไหล่สำรอง

23 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง"เปิดใจยันประชาชาติไม่ใช่พรรคสำรองใคร แต่เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน ชี้ยุบสภาอย่ารอจบประชุมเอเปค แค่แก้กฎหมายลูกเสร็จ ก็ควรคืนอำนาจปชช. เหมือนสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้ำลากยาวยิ่งเปลืองตัว

ถือเป็นอีกบุคคลหนึ่งในทางการเมืองที่สปอร์ตไลท์ต้องหันมาโฟกัส คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ ซึ่งงจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

โดย พ.ต.อ.ทวี ได้สะท้อนมองกับการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ที่จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ใบหนึ่งเลือกคนที่รัก และอีกใบเลือกพรรคที่ชอบ ซึ่งถือเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย แต่คณะกรรมาการธิการ (กมธ.) วิสามัญแก้ไขกฎหมายลูกกำลังพิจารณา ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกัน แม้ส่วนใหญ่เห็นว่าการคิดคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องหารด้วย 100 หรือจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแบบพรรคการเมืองทั้งประเทศ เพื่อได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะต้องมีคะแนนเท่าไร

 

"ทวี สอดส่อง"ย้ำจุดยืนพรรคประชาชาติคือสถาบันการเมืองไม่ใช่อะไหล่สำรอง

 

จากนั้นจะใช้คำนวนจำนวน ส.ส.พึงมี แต่ละพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศ ว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละกี่คน เพื่อไม่เกินจำนวน 100 คน ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ซึ่งคะแนนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบัญชีรายชื่อ แต่มีบางกระแสข่าวว่าจะใช้วิธีคิดคะแนนแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว คือ หาร 500 ที่เป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ไปหารคะแนนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด คิดเป็นคะแนนของ ส.ส.พึงมีแต่ละคน (จำนวน 500 คน) พรรคการเมืองจะมี ส.ส.กี่คนอยู่ที่คะแนนรวมที่ผู้มีสิทธิทั้งประเทศเลือก และถ้าได้ ส.ส.เขตเท่าไร ก็เอาไปลบออกเหมือนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

 

"วิธีนี้ก็จะทำให้พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขตมาก เมื่อเอาจำนวน ส.ส.เขตไปลบออกแล้ว อาจจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย หรือได้น้อย ซึ่งเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่แก้ไขก็คือ เป็นบัตร 2 ใบ เป็นการคู่ขนาน ก็คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน ก็เอา 100 หาร ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ควรมีคะแนนเท่าไร แล้วไปดูคะแนนผลการเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆว่าจะได้บัญชีรายชื่อกี่คน จะสมเหตุสมผลกว่า"

 

 

 

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดคะแนนอยู่ที่มติของสมาชิกรัฐสภาที่มี ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมอยู่ด้วย เท่าที่ฟังดู ทางฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ และพรรคฝ่ายรัฐบาลบางพรรค กับฝ่าย ส.ว. ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน มติรัฐสภาต้องใช้เสียงข้างมาก แต่สำหรับพรรคประชาชาติ คิดว่าไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด พรรคประชาชาติได้เตรียมไว้ทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งนี้ พรรคจะมีลักษณะต่างกับพรรคอื่น ที่เป็นพรรคส่งเสริมพหุวัฒนธรรม ไม่มีผลมากนักสามารถปรับตัวได้

 

"ทวี สอดส่อง"ย้ำจุดยืนพรรคประชาชาติคือสถาบันการเมืองไม่ใช่อะไหล่สำรอง

 

ทว่า สำหรับพรรคเล็กอื่นๆ ต้องยอมรับอาจเสียเปรียบพรรคใหญ่ เพราะเวลาประชาชนจะเลือกพรรคการเมือง ก็จะเลือกพรรคที่จะไปเป็นรัฐบาล คือ พรรคใหญ่ ก็จะทำให้ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคใหญ่จะเยอะขึ้น แต่ส่วนพรรคประชาชาติ เป็นพรรคเชิงประเด็น เชิงการแก้ปัญหา ที่เป็นปัญหาของคนด้อยโอกาส คนเหลื่อมล้ำ ก็จะได้ประโยชน์ ในกลุ่มคนพวกนี้ที่จะมาเลือก

 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าในพื้นที่ภาคใต้จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด?

 

พ.ต.อ.ทวี มองว่า การเลือกตั้งทุกครั้งอยู่ที่ความนิยมและความเชื่อมั่นของประชาชน การแข่งขันดุเดือดมีทั้งประเทศ การเลือกตั้งใหม่ ส.ส.เขต 400 คน การแพ้ชนะ ส.ส.เขต จะอยู่ที่ 1.คะแนนความนิยมพรรค 2.คะแนนความนิยมตัวบุคคล 3.ความเชื่อของมวลชน ซึ่งในส่วนของพรรคประชาชาติ เป็นพรรคที่เกิดมาต้องการเป็นพรรคใหญ่ แต่ในความเป็นไปได้ ฐานของพรรคเริ่มต้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็คิดว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 12 เขต ก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดแข็ง

"เราก็ยังเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราอยากจะเห็นพรรคประชาชาติควรจะเป็นรัฐบาลที่จะมาแก้ปัญหา เราเชื่อมั่นว่าถ้าเราเป็นรัฐบาล ปัญหาของประเทศชาติ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความอยุติธรรมต่างๆ ปัญหาใหญ่ก็คือปัญหาคนไม่เท่ากับคน คือ ยังมีการพัฒนาเชิงนายทุนก่อน ประชาชนมาทีหลัง พรรคจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้

 

และเราเชื่อว่าการแก้ปัญหาในลักษณะโครงสร้างให้สมดุล มันจะแก้ไขปัญหาประเทศชาติโดยเร็ว วันนี้ประชาชนตื่นรู้ อยากให้มองว่ามันเป็นโอกาสของประชาชน การแข่งขันของบางพรรคและบางคนอาจจะเป็นการแข่งขันเรื่องอำนาจเรื่องเงินตรา เป็นการประมาทประชาชนเกินไป ประชาชนจะมองว่าเขาจะมีอนาคต เขามีความหวังหรือไม่ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องไปแข่งขันตรงนั้น"

 

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ก็ต้องยอมรับว่า เป็นพื้นที่ประชาชนตื่นรู้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในสามจังหวัด ที่จะเห็นเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น มีการเปลี่ยนแปลงคนเก่ามากกว่า 60 เปอร์เซ็น ดังนั้น ไม่ใช่ว่าคนที่เคยได้เป็น ส.ส.จะได้เป็นต่อ ก็ถือว่าเป็นพื้นที่แข่งขันและพื้นที่ที่มีลักษณะอัตลักษณ์จะต่างกับบางพื้นที่        

 

"ทวี สอดส่อง"ย้ำจุดยืนพรรคประชาชาติคือสถาบันการเมืองไม่ใช่อะไหล่สำรอง         

 

จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ และคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรในการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นรอบนี้?

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคประชาชาติในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาตรา 151 ซึ่งฝ่ายค้านทำงานเป็นทีม วันอภิปรายไม่สำคัญเท่าข้อมูลและเนื้อหาที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่ามองว่ารัฐบาลเสียเปรียบ ต้องมองว่าฝ่ายค้านอาจจะเสียเปรียบก็ได้ ถ้าข้อมูลที่ไปอภิปราย เป็นข้อมูลที่ประชาชนฟังซ้ำๆ ไม่มีอะไรใหม่ก็ไม่ดี พรรคประชาชาติ มีข้อมูลที่พูดไปแล้ว ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่สมควรจะบริหารประเทศต่อ หรือรัฐบาลต้องตอบคำถามว่า ทำไมทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย แต่ต้องยอมรับว่าถ้าเสียงในสภาฝ่ายรัฐบาลมากกว่า ก็มีปรากฏการณ์ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจน รัฐบาลก็จะพยายามลากไป แต่ก็อยากเห็นว่าการอภิปรายถ้าเนื้อหาที่เห็นว่าชัดเจนจริง ถ้าพรรคที่ร่วมรัฐบาลยังอุ้มไปต่อ ควรละอายใจ ไม่ควรจะอุ้มคนที่กระทำผิด ซึ่งหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

 

มองอย่างไรต่อข่าวการยุบพรรคในซีกฝ่ายค้านระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย?

 

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า วันนี้บ้านเมืองเต็มไปด้วยข่าวลือ แต่ในข้อเท็จจริงอาจไม่มีจริง สำหรับสองพรรคที่ตั้งคำถาม ก็ยังไม่เห็นว่าได้ทำผิดอะไร พรรคที่ควรจะยุบในความเห็นส่วนตัว ควรเป็นพรรคของรัฐบาลมากกว่า ทั้งการครอบงำการบริหารราชการและทั้งในสภาด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต กระแสที่ปล่อยให้ฝ่ายค้าน ก็น่าจะเป็นการต้องการที่จะให้ ส.ส.บางพรรคให้ย้ายพรรค หรือย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ ไม่เชื่อว่าจะทำอะไรแบบไม่มีหลักฐาน มองเหมือนเป็นเกมการเมือง เรื่องของจิตวิทยา เป็นวิธีเดียวที่จะทำลายฝ่ายตรงข้าม เพราะว่าเห็นกระแสนิยมของประชาชนที่มีต่อฝ่ายค้านในบางพื้นที่สูงมาก คนจะเลือกฝ่ายค้านเยอะ วิธีการหนึ่งที่จะบีบได้ คือ จะต้องถูกยุบพรรคการเมือง ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะทำได้ ถ้าเกิดทำจริงๆ จะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี คือ กระแสนิยมฝ่ายค้านจะยิ่งมากขึ้น

 

ความสัมพันธ์กับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างไรและความเป็นไปได้ที่พรรคประชาชาติจะเป็นพรรคสำรอง

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ประเด็นที่เป็นพรรคสำรองต้องตอบว่าไม่ใช่ และไม่มี ส่วนตัวมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทย เต็มไปด้วยผู้รู้ทางกฎหมาย ผู้รู้ทางการวางยุทธศาสตร์ ทั้งพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคก้าวไกลเท่าที่สัมผัส จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดูเรื่องการทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ความเห็นว่าที่จะยุบ 2 พรรคนี้ ในสมองไม่มี แต่วันนี้ความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทย มันมีรากเหง้ามานาน ความขัดแย้งส่วนหนึ่งก็หนีไม่พ้น เกิดจากการยึดอำนาจปี 2490 เป็นต้นมา แล้วก็เป็นกระแสชาตินิยม กระแสของคนกลุ่มน้อย กับกระแสประชาธิปไตย

 

ทั้งนี้ โดยเฉพาะกระแสความขัดแย้งใน 3 ทศวรรษหลังนี้ มันเกิดจากการพัฒนาชนบท ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย คนในชนบทมองว่าการเมืองนำไปสู่การกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรกระจายความอยู่ดีกินดี ให้กับประชาชน จึงมีกระแสโดยเฉพาะสมัยนายกฯทักษิณ จึงมีกระแสของคนชนบท หรือคนที่อยู่ห่างไกลว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเมืองที่สามารถทำให้ประชาชนมีความหวัง มีโอกาส และทำให้ประชาธิปไตยกินได้ จนได้รับความเชื่อมั่นและนิยมชมชอบจากประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม จึงทำให้กลุ่มคนที่มุ่งเรื่องอำนาจนิยม รู้สึกเป็นความขัดแย้ง จึงเข้ามายึดอำนาจ และการยึดอำนาจครั้งนี้ เมื่อยึดอำนาจมาหลายปี จะเห็นว่า สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเผด็จการหรือการใช้อำนาจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต หรือความอยู่ดีกินดีให้ประชาชนได้ มันจึงเป็นความขัดแย้ง ดังนั้น พรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคสํารอง เพราะพรรคได้พัฒนาตัวเองให้เป็นพรรคของประชาชน พรรคจะส่งผู้สมัครเลือกตั้ง 12 เขต จะไปถามประชาชน ไม่ได้ถามผู้สมัคร แต่วันนี้ก็ถาม เช่น ทำโพลบ้าง ถามบางกลุ่มบ้าง ว่าจะเลือกใคร เมื่อประชาชาติเป็นสถาบันของประชาชน จึงเป็นพรรคสำรองของใครไม่ได้ 

 

คิดเห็นอย่างไร กับประเด็นที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ข่าวว่าจะยุบสภาหลังประชุมเอเปค 2565

 

พ.ต.อ.ทวี ให้ความเห็นว่า ในทางกฎหมายมีอำนาจของนายกรัฐมนตรี จะอยู่ครบ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. 2566 คือ รัฐบาลนี้ก็ต้องไป ตามวาระของรัฐธรรมนูญ แต่ว่าในเรื่องของการยุบสภาเป็นอำนาจของนายกฯ และมองว่านายกฯรวมถึงรัฐมนตรีจะอยู่ได้ไม่เกินเดือนส.ค. เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี แต่ถ้าจะอยู่เกินเดือนส.ค. นายกฯอาจจะใช้องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญช่วย แต่เชื่อว่าจะเป็นผลร้าย

 

"ในความเห็นของผม เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแก้ไขเสร็จ ซึ่งคาดว่าเดือนพ.ค. ในหลักการท่านควรจะยุบสภา เพราะว่ารัฐธรรมนูญระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อไม่มีกฎหมายมาบังคับ อยากให้ท่านมองอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2554 เราได้แก้รัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อแก้เสร็จ กฎหมายประกอบเสร็จ ท่านก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เปิดโอกาส คืนอำนาจให้ประชาชน และในกติกาที่เราเห็นร่วมกัน จึงควรมีการยุบสภา หลังจากการแก้กฎหมายลูกเสร็จ"

logoline