svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"โควิด19 สู่โรคประจำถิ่น" กับความท้าทายใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย!!

30 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คนไทยกำลังอยู่ในโหมดการนับถอยหลังโรคโควิด19 สู่การเป็น"โรคประจำถิ่น" จึงมีการเตรียมความพร้อมในหลายมาตรการ โดยเฉพาะการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 เพื่อกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงไปกว่านี้ ทว่าจับตาหลังสงกรานต์ปีนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงหรื่อไม่

การที่ประเทศไทยกำลังจะประกาศให้ โรคโควิด 19 "เป็นโรคประจำถิ่น"  ถือเป็นความท้าทายสำหรับคนไทยทุกคน ว่าหลังจากนี้จะต้องดำเนินชีวิตอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด19  เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นนั้นไม่ได้หมายความว่า เชื้อโควิด19 จะหมดไปจากโลกนี้ ทว่าความเสี่ยงที่เชื้อโควิดจะกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้ง มีความเป็นไปได้ตลอดเวลา  ทว่าหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะทำให้เชื้อโควิด19 กลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งคือ "เชื้อกลายพันธุ์" กลายเป็นโรคอุบัติใหม่ หรืออาจเป็นเชื้อตัวเดิมที่ดุร้ายมากขึ้น  

 

 

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุถึงสถานการณ์ของเชื้อการกลายพันธุ์ในประเทศไทย พบว่าเชื้อโอมิครอนแพร่ระบาดครอบคลุมเกือบ 99% แล้ว หากจำแนกตามสายพันธุ์ย่อย พบสายพันธุ์ย่อย BA.2 ครองสัดส่วนกว่า 67 % ส่วนที่เหลือกว่า 32 %เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1  เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อตัวนี้มีความรุนแรงและแพร่ได้เร็วกว่าเดิมหรือไม่อย่างไร

 

 

ด้านดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ชี้ว่าคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยายังหาคำตอบไม่ได้ขณะนี้คือ สาเหตุที่ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ย่อย อย่าง BA.2 ถึงแพร่กระจายได้ไวกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะโอมิครอนตัวที่ครองพื้นที่อยู่ก่อนหน้านี้อย่าง BA.1 หรือ BA.1.1 

"โควิด19 สู่ โรคประจำถิ่น" ไม่ใช่เรื่องง่าย!!

ดร.อนันต์ อธิบายว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2.8 มีหนามสไปค์เหมือนกับ BA.2  แต่ความแตกต่างอยู่ที่การกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งบนโปรตีนตัวเล็กๆ ที่ชื่อว่า ORF3a  ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้น่ากังวล  สาเหตุคือ เพราะเราไม่รู้จัก ORF3a ว่าหน้าที่ของโปรตีนนี้ทำอะไรกันแน่  ทำให้เราเดาทางไวรัสไม่ออก 

 

 

สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของ สเตฟาน บังเซล (Stephane Bancel) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของบริษัท Moderna ที่เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ก่อนหน้านี้ว่า มีโอกาสประมาณ 1 ใน 5 ที่เชื้อโควิด19 สายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นซึ่งอันตรายกว่าเวอร์ชันปัจจุบัน แน่นอนว่าเราไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ซีอีโอของ Moderna ชี้ว่ามันมีโอกาส 20% ที่เราจะพบกับสายพันธุ์ที่ร้ายแรง และสาเหตุหนึ่งมาจากการฉีดวัคซีนที่ไม่สม่ำเสมอ

 

 

ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียก BA.2 เป็นสายพันธุ์ "พรางตัว" เนื่องจากไม่เหมือนกับสายพันธุ์ BA.1 ตรงที่ขาดลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรม ที่แยกความแตกต่างจากสายพันธุ์ Delta  หมายความว่า แม้ว่าการทดสอบ PCR มาตรฐานจะยังตรวจจับ BA.2 ได้ แต่ก็ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างจาก Delta ได้

 

 

ปัจจัยการจะเป็นโรคประจำถิ่น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า สิ่งที่เราเห็นตรงกันคือ พฤติกรรมของเจ้าโอมิครอน สามารถจับกับเซลล์ต่างๆ ได้ดี แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้น ปัจจัยสำคัญ คือ 1. ตัวเชื้อโรคเอง  2. ตัวคนที่เป็นผู้ติดเชื้อ   และ3. สิ่งแวดล้อมเอื้อให้เกิดการสมดุลระหว่างเชื้อกับคน หรือพูดง่ายๆ คือ เชื้ออยู่ได้คนอยู่ได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

 

ทว่าการที่เชื้ออยู่กับคนได้ในสิ่งแวดล้อม หมายถึงระดับความรุนแรงของเชื้อจะค่อยๆ ลดลง เพราะหากรุนแรงมากคนก็อยู่กับมันไม่ได้ ต้องกำจัดมันให้หมด หรือคนก็ต้องถูกกำจัด 
 

"หากจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เชื้อโรคจะต้องอยู่กับคนได้ ความรุนแรงจะต้องค่อยๆ ลดลง เช่น โอมิครอน ที่ความรุนแรงค่อยๆ ลดลง  ประเด็นถัดมาคือ คนต้องอยู่กับเชื้อโรคได้ คือ ติดเชื้อแล้วไม่ตาย" 

 

และการที่คนจะอยู่กับเชื้อโรคได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่  1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน พอเชื้อโรคมา ก็ไม่ป่วยหนัก เสียชีวิต อยู่กับเชื้อโรคได้   2. ติดเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ 

 

 

มาถึงตรงนี้ สะท้อนว่าการที่จะเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้นมันไม่ง่ายอย่างที่คิด  เหตุผลแรกคือ การเกิดขึ้นของสายพันธุ์ย่อยยังไม่นิ่ง ยังพบว่ามีการกลายพันธุ์เล็กๆ ตลอดเวลา  และที่สำคัญคือ การเกิดขึ้นของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจุดจบมันจะอยู่ตรงไหน โอกาสที่มันจะรุนแรงหรือคลี่คลาย มีความเป็นไปได้ทั้งหมด

"โควิด19 สู่ โรคประจำถิ่น" ไม่ใช่เรื่องง่าย!!

 

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงแผนระยะที่ 1 ที่จะนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นตามแผนที่กำหนดไว้คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565  ต้องบอกว่าเป็นความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตไม่ให้สูงไปกว่านี้  นั่นหมายความว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเมษายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะต้องอยู่ในระดับคงที่ไม่เกิน 2 หมื่นราย และตั้งแต่พฤษภาคม จนถึงเดือนมิถุนายน ผู้ติดเชื้อจะต้องค่อยๆลดระดับลงมาไม่เกิน 1,000 รายต่อวัน  ก่อนเข้าสู่โหมดโรคประจำถิ่น 1 กรกฎาคม นี้  

 

 

แต่หลังจากนี้คงต้องจับตาหลังเทศกาลสงกรานต์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19 จะกลับมาสูงขึ้นก้าวกระโดดอีกหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ออกมาเตือนว่าช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือสงกรานต์ และอย่าคิดว่าโอมิครอนไม่รุนแรง ความรุนแรงต้องดูว่าเป็นเพราะตัวไวรัสเองหรือเพราะคนมีภูมิเพราะฉีดวัคซีนมากขึ้น 

 

 

ยิ่งตอกย้ำว่าเรายังคงต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เพราะการฉีดวัคซีนคือสิ่งที่จะช่วยให้เราก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่นได้อย่างแท้จริง แม่จะไม่ใช่เร็ววันนี้  อย่างน้อยสิ่งที่วัคซีนช่วยได้คือ การไม่ต้องป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล และการที่ไม่ต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร  แค่นี้ก็เพียงพอที่คนเราจะอยู่กับเชื้อโควิด19 ไปได้อีกนาน  
 

 

logoline