svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

24 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“โรคใหลตาย” ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน ความน่ากลัวของโรคนี้คือการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเลย

ได้เวลาเตือนภัยจากโรคที่มาจากภัยเงียบ ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่วงการแพทย์ เรียก “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

 

“โรคใหลตาย” หรือที่วงการแพทย์ เรียก “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

โรคใหลตาย มีสาเหตุที่สำคัญคือ
ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของโรคมี 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ปัจจัยต่อมาคือการขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดีๆ รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ และสุขนิสัยการกินที่ผิด

 

กลไกการเกิดภาวะโรคใหลตาย
อธิบายได้ดังนี้ โดยปกติแล้วการเต้นของหัวใจคนเรานั้นเกิดขึ้นจากไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเกิดจากเกลือแร่ที่วิ่งเข้าออกระหว่างเซลล์ตลอดเวลา โดยเกลือแร่ที่ทำให้เกิดไฟฟ้ามีหลายชนิด เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม เป็นต้น ซึ่งต้องวิ่งเข้าออกบริเวณที่เปรียบเสมือนประตู แต่ในคนที่เกิดภาวะใหลตายนั้นพบว่าประตูที่ทำให้โซเดียมเข้าออกเซลล์นั้นมีน้อยกว่าคนปกติ เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด และเป็นสาเหตุในระดับเซลล์ คนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับอาหารการกิน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคใหลตาย

 

ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

การเกิดภาวะใหลตายเกี่ยวข้องกับการเต้นระริกของหัวใจ
ที่เราพบในคนไข้ใหลตายนั้นเกิดจากหัวใจห้องล่าง ซึ่งปกติเป็นปั๊มหลักคอยบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อประตูหัวใจห้องล่างเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทำให้มีการเต้นไม่สม่ำเสมอของหัวใจห้องล่าง เกิดไฟฟ้ามากระตุ้นให้เป็นจุดเล็กๆ และแทนที่หัวใจห้องล่างจะบีบตัวโครมๆ เพื่อเอาเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ก็บีบตัวไม่ได้และสั่นระริกๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ ภายใน 30 วินาทีจะเป็นลมหมดสติ 4 นาทีต่อมาถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นสมองจะตาย และภายใน 6-7 นาที ถ้ายังไม่หายก็จะเสียชีวิตในที่สุด

 

อาการแสดงของภาวะเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ
คือเกิดการเกร็งของแขนและขา หายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายปัสสาวะและอุจจาระราด เพราะสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทโดยอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ จากนั้นจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อหยุด BF ให้เร็วที่สุด แต่บางครั้ง BF ก็อาจหยุดเองได้และผู้ป่วยสามารถรอดตายได้เช่นกัน แต่สมองอาจพิการถาวรหากขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน

 

 

ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

การรักษาโรคใหลตายในทางการแพทย์มี 2 วิธี

ได้แก่ การใช้ยาและการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยในการให้ยานั้นขึ้นอยู่กับอาการโรคใหลตายว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงมาก การใช้ยารักษาก็อาจไม่ได้ผล และต้องใช้วิธีฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจเข้าไปในร่างกายแทน

คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคใหลตายในวันปกติจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น แต่ในวันร้ายคืนร้าย กล่าวคือ ในวันพักผ่อนน้อย ดื่มเหล้า หรือใช้สารเสพติด รวมถึงยาบางอย่างหรือในวันที่ไม่สบาย อาจทำให้อาการใหลตายเกิดขึ้นและเสียชีวิตกระทันหันในวันเหล่านั้น

ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ
 

การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ผู้ที่เคยตกอยู่ในภาวะใหลตายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ การดูแลหลังการรักษานั้นต้องหลีกเลี่ยงการกดบริเวณหัวไหล่ ไหปลาร้าข้างที่ใส่เครื่อง เพราะอาจทำให้สายหัก ทั้งนี้ด้านอาหารการกินยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน รับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย และรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกายโดยเฉพาะวิตามินบี ที่สำคัญควรรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถั่วดำ ถั่วแระ เต้าหู้ เป็นต้น

 

แนวทางการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

คือจับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาทีโดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว และไม่ควรเสียเวลาโดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

ล่าสุด ด้าน นพ.วีรพันธ์ วิวัฒน์วรพันธ์ อายุรศาสตร์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ ให้ข้อมูลว่า โรคใหลตาย มาด้วยอาการ คือ ตายเลย ในบางรายอาจจะมีอาการนำได้ คืออาจจะมีอาการหมดสติเป็นลมโดยเฉพาะนอน ๆ อยู่แล้วหมดสติไป อาจจะเห็นว่ามีอาการเกร็ง เฮือกขึ้นมาเหมือนหิวอากาศคล้าย ๆ กับกระตุกดูคล้ายกับลมชัก แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะนั่นเอง 

 

นพ.วีรพันธ์ วิวัฒน์วรพันธ์ อายุรศาสตร์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ

  • เมื่อไหร่ที่ต้องเข้ามาพบแพทย์

ถ้าเกิดมีญาติสายตรงเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุก่อนวัยอันควรในกลุ่มนี้แนะนำว่าควรจะต้องมาพบแพทย์ก่อน เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในบางรายอาจพบความผิดปกติ ที่เป็นเงื่อนงำของโรคใหลตาย ได้เหมือนกัน ไม่ต้องตกใจในหลาย ๆ กรณี ถึงเราจะมีคลื่นหัวใจที่เหมือนกับโรคใหลตาย เรายังไม่ตายก็ได้ การเสียชีวิตความเสี่ยงจะอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปีในบางรายอาจต้องมีการผ่าตัดใส่เครื่องหัวใจกระตุกอัตโนมัติ เรียกว่าเครื่อง AICD (Automated Implantable Cardioverter-Defibrillator) เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

  • โรคใหลตาย การเสียชีวิตที่ไม่ทราบสาเหตุ

ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มอายุในกลุ่มอายุพี่เกินประมาณ 30 ถึง 40 ปีขึ้นไปมักจะเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่กรณีที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ก็อาจจะเป็นในกลุ่มที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะแต่กำเนิด

  • การป้องกันโรคใหลตาย

ในปัจจุบันมันเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ป้องกันได้ ป้องกันลูกไม่ให้เป็นได้ ถ้าเกิดลูกคนนั้นยังไม่เกิด ปัจจุบันจะมีวิธีการคัดเลือกยีนหรือคัดเลือกตัวอ่อน ของเด็กที่จะเกิดขึ้นมา ว่าโอกาสที่ลูกจะเกิดขึ้นมาจะเป็นโรค แบบคุณพ่อคุณแม่หรือไม่ สามารถทำได้

การดูแลตนเอง สำหรับกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ ในกลุ่มที่ยังไม่มีอาการ แนะนำ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งการต้องระวังเรื่องของ การมีไข้สูง เพราะว่าไข้สูงบวกกับมีคลื่นหัวใจผิดปกติ แบบโรคใหลตายจะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

 

ชวนคนไทยทำความรู้จัก “โรคใหลตาย” หรือที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

logoline