svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"สำนักปฏิบัติธรรม" ที่พึ่งทางใจ หรือเลี่ยงกม.หาประโยชน์?

19 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องราวที่แตกประเด็นออกมาจากคดีแตงโม ลามไปถึงหลวงพี่อุเทน และ ไฮโซปอ กับ โรเบิร์ต ก็คือการไปบวชเป็นโยคี ที่สถานปฏิบัติธรรม ชยันโตโพธิธรรมรังสี หรือ ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 

ชยันโตโพธิธรรมรังสี หรือ ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่บริหารจัดการโดย “หลวงพี่อุเทน” แห่งวัดท่าไม้ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2551 ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ล่าสุดกรมธนารักษ์ออกมายืนยันแล้วว่าไม่มีการขออนุญาต คือเคยมีการขอ แต่ไม่ได้อนุญาต เพราะผู้ขอไม่มีอำนาจขอ ผู้มีอำนาจขอคือสำนักพุทธฯจังหวัด  แต่สำนักปฏิบัติธรรม ก็ตั้งมา 13 ปีแล้ว 

 

สำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งมีทั้งดังและดีอยู่หลายที่ บางที่ดังเรื่องปฏิบัติ วิปัสนา บางที่ดังเพราะดารา นักร้อง ไฮโซ ไปกันมาก 


ที่น่าสนใจหลังๆ มีข่าวคนดังไปสถานปฏิบัติธรรมกัจำนวนมาก มากกว่าไปวัด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ

 

1.สถานปฏิบัติธรรมสามารถหลีกหนีความวุ่นวายได้ระดับหนึ่ง

 

2.เป็นสถานที่ที่ให้ไปพักใจ ฝึกจิต ฝึกปฏิบัติได้จริง (ถ้าตั้งใจ) 

 

3.สถานปฏิบัติธรรมหลายแห่งเป็นสาขาของวัดดังๆ และพระดังๆ จึงเหมือนเป็นสถานที่ทำกิจกรรมของลูกศิษย์ลูกหา 

 

4.สถานปฏิบัติธรรมโดยมากอยู่ต่างจังหวัด หรือถ้าในกรุงเทพฯก็มีต้นไม้เยอะ ทำให้เหมือนได้อยู่กับธรรมชาติ บางคนไปเพื่อดีท็อกซ์ตัวเอง 

 

5.การไปวัดสำหรับบางคน อาจจะดูเหมือนไม่ได้อะไร แค่ไปทำบุญ ถวายสังฆทาน บางวัดถังสังฆทานก็ใช้วน และไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย แถมระยะหลังมีแต่ข่าวพระฉาว แต่ไปสำนักปฏิบัติธรรม แม้จะเสียเงินทำบุญ แต่ก็ได้ไปอยู่ ไปกิน ไปนอน และฝึกปฏิบัติจริง เหมือนเป็นโปรแกรมอบรม

 

"สำนักปฏิบัติธรรม" ที่พึ่งทางใจ หรือเลี่ยงกม.หาประโยชน์?

แน่นอนว่า การไปสถานปฏิบัติธรรม ย่อมดีกว่าไปสถานที่อโคจร แต่การตั้งสถานปฏิบัติธรรม ยังมีช่องว่างอยู่ บางแห่งเป็นสถานปฏิบัติธรรมเถื่อน (ย้ำว่าบางแห่ง) 

 

-มีเจตนาแฝงบุกรุกป่า หรือรุกที่สาธารณะ ตลอดจนที่รัฐ ที่หลวง 

 

-เป็นช่องทางให้พระนอกรีตบางราย ใช้ในการหารายได้อย่างง่ายๆ 

 

“รายการข่าวข้นคนข่าว” ได้พูดคุยกับพระสงฆ์ในวงการ “สถานปฏิบัติธรรม” ได้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วการตั้งสถานปฏิบัติธรรมต้องเป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคม แต่คำถามคือ มีกี่แห่งที่ปฏิบัติตามระเบียบ  ที่ผ่านมามีข่าวว่าจะมีการยกร่างระเบิดเพิ่มเติม เพื่อให้รัดกุมมากขึ้น จากฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่เป็นปี 2558

 

สาระสำคัญคือ สถานปฏิบัติธรรม หรือ สำนักปฏิบัติธรรม ต้องมี “วัด” เป็นหลักก่อน แล้ววัดนั้นต้องมีความพร้อม เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะตั้งสถานปฏิบัติธรรมได้ การจัดตั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากพระผู้ปกครอง หรือพระผู้ใหญ่ในเขตพื้นที่นั้น ตลอดจนฝ่ายบ้านเมือง 

 

ฉะนั้นหากเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่ลักลอบตั้ง หรือสำนักเถื่อน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือจังหวัด ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้  ซึ่งจริงๆ แล้วสถานปฏิบัติธรรมที่ขออนุญาตถูกต้อง ก็ไม่มีช่องทางกฎหมายให้สำนักพุทธฯได้เข้าไปตรวจ ยกเว้นพระในสำนักปฏิบัติธรรมนั้นกระทำผิดกฎหมาย หรือผิดพระธรรมวินัย 

 

ฉะนั้น สำนักปฏิบัติธรรมบางแห่ง ที่มีลักษณะคล้ายรีสอร์ท ห้ามคนนอกเข้า เปิดรับเฉพาะศิษยานุศิษย์ หรือคนใหญ่คนโต ปีละ 2-3 ครั้ง แบบนี้ผิดระเบียบกฎหมายแน่ แต่โดยมากสำนักปฏิบัติธรรม จะเชื่อมโยงกับวัดดัง ซึ่งมีศิษยานุศิษย์เป็นคนใหญ่คนโต ทำให้ทางจังหวัด หรือทางพื้นที่ที่ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเถื่อน ไม่มีใครกล้าจัดการ 

 

"สำนักปฏิบัติธรรม" ที่พึ่งทางใจ หรือเลี่ยงกม.หาประโยชน์?

สำหรับระเบียบ “สำนักปฏิบัติธรรม” ตามที่ “รายการข่าวข้นคนข่าว” เล่าให้ฟัง เป็นไปตาม ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. 2558

 

ระเบียบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการเสนอขอจัดตั้ง “สํานักปฏิบัติธรรมประจําจังหวัด” ให้รัดกุมชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้สํานักปฏิบัติธรรมประจําจังหวัด มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างเดียวกัน

 

สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด หมายถึง วัดที่มีความพร้อมอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 

 

1.ความพร้อมด้านอาคารสถานที่ 


2.มีพระวิปัสสนาจารย์ ที่ผ่านมาการอบรมหลักสูตร พร้อมทำหน้าที่สอนการปฏิบัติสมถกัมมัฎฐาน และ/หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งความพร้อมทั้ง 2 เรื่องนี้ จะต้องส่งผลให้เกิดความพร้อมในการปฏิบัติธรรม คือมีการดำเนินการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี อย่างน้อย เดือนละ 2 ครั้ง

 

รูปแบบการบริหาร จะต้องบริหารโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย เจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานกรรมการ รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นรองประธานฯ  เจ้าคณะอำเภอ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 7 คน หรือ 7 รูป เป็นกรรมการ  มีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็นเลขานุการ โดยมีหน้าที่ กํากับดูแล และสนับสนุนส่งเสริมให้สํานักปฏิบัติธรรมประจําจังหวัด  ดําเนินกิจกรรมการปฏิบัติธรรม ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงรายงานการยุบเลิกสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด

 

จะเห็นได้ว่าถ้าปฏิบัติตามระเบียบ สำนักพุทธฯจะเข้าไปตรวจสอบได้ และมีพระผู้ปกครองในพื้นที่คอยดูแล 

 

ในระเบียบฉบับเดียวกันนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขการยุบ “สํานักปฏิบัติธรรมประจําจังหวัด” เอาไว้ด้วย โดยมีเงื่อนไขคือ 

 

1. ไม่มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม

 
2. ขาดวิปัสสนาจารย์สอนประจํา 


3 . แนวทางการปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตร 


4 . ไม่มีการดําเนินการจัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมตามกําหนดและ/ หรือไม่มีการรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการ

 

หากใช้ระเบียบนี้มาจับ เชื่อว่าสำนักปฏิบัติธรรมที่ทำถูกต้องในประเทศไทย น่าจะเหลือน้อยมาก 

 

ที่สำคัญคือเงินบริจาคที่ญาติโยมถวาย ทั้งบริจาคแบบให้เปล่า และบริจาคเพื่อเข้าปฏิบัติธรรม ถูกนำไปใช้อย่างไร มีการตรวจสอบ ทำบัญชีหรือไม่ เพราะวัดและสำน้กสงฆ์มีกฎหมายรองรับ  แต่สำนักปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรรองรับเลย

 

"สำนักปฏิบัติธรรม" ที่พึ่งทางใจ หรือเลี่ยงกม.หาประโยชน์?

logoline