svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

คลัสเตอร์บอมบ์ อาวุธต้องห้ามในสงคราม

01 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีรายงานว่า รัสเซียใช้อาวุธต้องห้าม Cluster Bomb ในการโจมตีเมืองคาร์คีฟของยูเครน สร้างความเสียหายให้โรงเรียนและห้างสรรพสินค้า ทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เรามาทำความรู้จักกับมหันตภัยของระเบิดชนิดนี้ว่า ร้ายแรงระดับไหน

Cluster Bomb หรือ cluster munition

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ออกมาเปิดเผยว่ากองทัพรัสเซียได้ใช้คลัสเตอร์บอมบ์ อย่างน้อยสองครั้งแล้ว ตั้งแต่บุกยูเครน และทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บอีก 11 คน ซึ่งคลัสเตอร์บอมบ์ถือว่าเป็นอาวุธต้องห้ามอย่างหนึ่งที่ถูกห้ามใช้ในสงคราม เพราะเป็นอาวุธที่ใช้โจมตีแบบวงกว้าง ทำให้มีประชาชนมีความเสี่ยงที่จะถูกลูกหลงจำนวนมาก

ความเสียหายในเมืองคาร์คีฟของยูเครน

Cluster Bomb หรือ cluster munition รู้จักกันในชื่อ ระเบิดลูกปรายเป็นระเบิดประเภทหนึ่ง ที่สามารถทิ้งจากอากาศยานหรือยิงจากภาคพื้นดินก็ได้ โดยภายในหัวรบมีการบรรจุระเบิดขนาดเล็ก (smaller munitions หรือ bomblets) จำนวนมาก เมื่อหัวรบหลักถูกยิงหรือไปตกเหนือเป้าหมาย เปลือกหุ้มจะแตกตัวออก ปล่อยระเบิดขนาดเล็กออกมาสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

ระเบิดขนาดเล็ก (smaller munitions) ของรัสเซีย สมัยใช้ในซีเรีย

ส่วนระเบิดขนาดเล็กที่บรรจุใน Cluster Bomb แบ่งออกเป็นได้หลายประเภท เช่น ระเบิดแรงสูง ระเบิดเพลิง ระเบิดสังหารบุคคล และระเบิดติดหัวรบเคมี โดย Cluster Bomb ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สอง โดยแต่ละประเทศอาจจะมีชื่อเรียกระเบิดประเภทนี้แตกต่างกันไป หากเป็นระเบิดของเยอรมนี มีชื่อเรียกว่า  Butterfly Bomb แต่ที่ถูกกล่าวขานและถูกใช้มากที่สุด คือ กับระเบิด (Mine-laying) ที่สหรัฐฯนำมาใช้ในสงครามที่เวียดนาม ลาว และกัมพูชา

 

ความเสียหายจาก Cluster Bomb

ความน่ากลัวของ Cluster Bomb การปล่อยชิ้นส่วนระเบิดหลายสิบลูก หรืออาจจะหลายร้อยลูกให้กระจายออกมาเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งอาจจะกว้างเท่าสนามฟุตบอล และระเบิดบางลูกที่ถูกปล่อยออกมา อาจจะยังไม่ระเบิดในทันที เมื่อตกลงมาถึงพื้นดินแล้วก็ยังไม่ระเบิดในตอนนั้น แต่อาจจะไประเบิดทีหลัง แม้ว่าสงครามจะจบไปแล้ว แต่กลายเป็นว่ามีระเบิดลักษณะนี้ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่และไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง และอาจสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้ไปอีกหลายสิบปี หลังจากที่สงครามจบ

รัสเซียใช้อาวุธต้องห้าม Cluster Bomb ในการโจมตีเมืองคาร์คีฟของยูเครน

มีตัวอย่างที่สงครามเวียดนาม ช่วงปี 2507-2516 มีระเบิดขนาดเล็กกว่า 80 ล้านลูกที่ยังไม่ระเบิด กระจัดกระจายอยู่ทั่วเวียดนาม แต่การค้นหาและทำลายชิ้นส่วนที่ยังไม่ระเบิด เป็นเรื่องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก จึงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากมาจนถึงปัจจุบัน ระเบิดแบบเดียวกันนี้ ยังหลงเหลือในลาวและกัมพูชา และอัฟกานิสถาน ที่เป็นผลพวงจากการบุกของสหภาพโซเวียต

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 มีการทำข้อตกลง Conventional on Cluster Munitions (CCM) ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หลังจากมีกว่า 30 ประเทศให้สัตยาบัน จนถึงปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันในข้อตกลงนี้แล้วกว่า 110 ประเทศทั่วโลก ว่าจะไม่ใช้ระเบิดแบบนี้อีก
แต่มีอีกหลายประเทศ ที่ลงนามในข้อตกลงแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการลงนามคือ การห้ามใช้ มีไว้ครอบครอง ผลิต ขนย้ายและกักตุนซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ประเภท Cluster Bomb

Cluster bomb ที่ลาว

ความเสียหายจาก Cluster bomb ที่ลาว

logoline