svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ทำไมรัสเซียต้องยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

25 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากทหารรัสเซียเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน ได้สร้างความวิตกว่าจะเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ซ้ำรอยในอดีตหรือไม่ ทำให้ต้องมาหาคำตอบกันว่าทำไมรัสเซียต้องยึดพื้นที่นี้ และมีความสำคัญอย่างไรต่อปฏิบัติการทางทหารในขณะนี้

เจ้าหน้าที่ยูเครนเปิดเผยว่า ทหารรัสเซียเข้าควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อคืนวานนี้ หลังเกิดการต่อสู้อย่างหนักกับทหารยูเครนที่อารักขาพื้นที่ และเป็นหนึ่งในภัยคุกคามครั้งร้ายแรงที่สุดในยุโรปในปัจจุบัน  ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เตือนด้วยว่า ภัยพิบัติแบบที่เคยเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้เมื่อปี 2529 อาจเกิดขึ้นอีกครั้งหากรัสเซียยังคงบุกโจมตีต่อไป 

 

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเซเลนสกีขู่รัสเซียว่า จะกลับมาครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง และกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่าคำขู่นี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ผู้เชี่ยวชาญมองว่ายูเครนมีองค์ความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้อยู่แล้ว แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็วอาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า Dirty Bomb

 

Dirty Bomb ก็คืออาวุธกัมมันตรังสี ทำได้โดยเอาระเบิดธรรมดารวมกับสารกัมมันตรังสี โดยมีเป้าหมายทำให้พื้นที่โจมตีเต็มไปด้วยกัมมันตรังสี

 

ทำไมรัสเซียต้องยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

นอกจากนี้คำถามว่าทำไมรัสเซียเลือกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล มีนักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะตำแหน่งทางภูมิศาสตร์มากกว่าตัวโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าที่ตั้งห่างจากเมืองเชอร์โนบิลเพียง 16 กม. อยู่ในภาคเหนือของยูเครนห่างจากชายแดนยูเครน-เบลารุส 16.5 กม. หรือห่างจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเกือบ 100 กม. 

 

จูเลียตต์ เคย์เยม นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงแห่งชาติ ทวีตว่าเชอร์โนบิลเป็นเส้นทางสั้นที่สุดจากรัสเซียไปถึงกรุงเคียฟ และตัวโรงไฟฟ้าไม่ใช่เป้าหมายของรัสเซีย 

 

ถนนสายหลักที่เชื่อมเชอร์โนบิลกับเคียฟอาจเป็นจุดเริ่มต้น สำหรับการเคลื่อนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ที่รัสเซียสั่งสมไว้ตามแนวมพรมแดนในฝั่งเบลารุส และเนื่องจากธรรมชาติของที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คงไม่มียุทโธปกรณ์ใดที่ตั้งใกล้บริเวณนี้จะตกเป็นเป้าโจมตีด้วยระเบิดหรือ ปืนใหญ่ 

 

นักสังเกตการณ์ยูเครนบอกด้วยว่า เชอร์โนบิลตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปรีเปียต ที่เชื่อมกับแม่น้ำนีเปอร์ ทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ ดังนั้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับทหารรัสเซีย หากเข้าปิดล้อมเมืองนี้ แต่นักสังเกตการณ์บางคนบอกว่า รัสเซียต้องการควบคุมสถานีไฟฟ้าย่อยของเมืองเชอร์โนบิล ที่ป้อนไฟฟ้าให้กับเบลารุส และบางส่วนทางภาคตะวันตกของรัสเซีย 

 

ทำไมรัสเซียต้องยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

ส่วนความกังวลว่ามีความเสี่ยงที่กัมมันตภาพรังสีจะรั่วไหลจากเตาปฏิกรณ์ จากผลการโจมตีของรัสเซียในบริเวณนั้นหรือไม่นั้น นักฟิสิกส์บอกว่ามีความเสี่ยงน้อย และตราบใดที่ไม่ได้มีการโจมตีโดยตรงด้วยความตั้งใจ ความเสี่ยงก็อยู่ในระดับต่ำ 

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเคยประสบอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2529 โดยเกิดการระเบิดที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลังการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และทำให้กัมมันตภาพรังสีกระจายสู่บรรยากาศ มีคนงานเสียชีวิตทันทีจากการระเบิด 2 คน และคนงานกับพนักงานดับเพลิงรวม 28 คน เสียชีวิตในอีกไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือนต่อมาเนื่องจากกัมมันตภาพรังสี  และพื้นที่เกือบ 2,600 ตร.กม. ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย ประชาชนกว่า 1 แสนคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ และคาดว่าภัยพิบัติยังส่งผลกระทบระยะยาวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกราว 4,000 คน เนื่องจากกัมมันภาพรังสี 

logoline