svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐสภารับหลักการ 4 ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไทย ดิ้นสู้ขอใช้เบอร์เดียว

24 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ่านฉลุย! “รัฐสภา” รับหลักการ 4ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. แม้ สว. โดดขวาง ให้แยกโหวตทีละฉบับ เพราะมองว่ามีเนื้อหาขัด รธน. ขณะที่ "เพื่อไทย" ดิ้นสู้ ขอใช้เบอร์เดียว เลือกตั้ง ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ

     วันนี้ ( 24 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ...  ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานที่ประชุม ได้ใช้เวลาอภิปรายนานกว่า 5 ชั่วโมง โดยมีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายรวม 35 คน 

 

     ทั้งนี้ในตอนท้ายตัวแทนของสำนักงานกฤษฎีกา ชี้แจงต่อข้อซักถามว่า ด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.ที่ใช้หมายเลขเดียวกันทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อาจขัดหรือแย้งกับมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ที่กำหนดให้สิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว

 

     ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 48 ที่ระบุถึงการสมัครรับเลือกตั้ง ว่าด้วยให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร เรียงตามลำดับเลขของหลักฐานการรับสมัคร ที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งออกให้ ดังนั้นถือว่า การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว จึงหมายถึงต้องมีหมายเลขผู้สมัคร และหลักฐานการสมัคร

 

     ขณะที่นายชวน ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ตัวแทนของ กกต. ​ไม่ชี้แจง ตนจึงขอชี้แจงเพราะถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบ เพราะตนเป็นผู้ที่ร้องขอให้เปลี่ยนเวลาการใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากตนขอให้ไปศึกษาว่า แต่ละประเทศที่เป็นประเทศประชาธิปไตยให้เวลาใช้สิทธิลงคะแนนเท่าใด โดยพบว่าของประเทศไทยใช้สิทธิ์น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศประชาธิปไตย 

 

    "ประเด็นนี้คำนึงถึงสิทธิของประชาชน แต่เห็นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ ส.ส.อภิปรายว่า เป็นภาระ แต่สิทธิที่ประชาชนได้มายาก ต้องให้โอกาสมีเวลา สิ่งที่ผมเคยเสนอ คือ เวลามากกว่า 17.00 น. แต่ได้แค่นี้ ทั้งที่ประเทศอื่นมีเวลาถึง 19.00 น. ดังนั้นเรื่องนี้เป็นความคิดของนักการเมืองที่อยากให้สิทธิของประชาชนสมบูรณ์มากขึ้น" นายชวน ชี้แจง
 

 

รัฐสภารับหลักการ 4 ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไทย ดิ้นสู้ขอใช้เบอร์เดียว

     จากนั้นเป็นการสรุปเนื้อหาของผู้เสนอโดยมีความน่าสนใจอยู่ที่คำชี้แจงของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายว่า หากร่างกฎหมายลูกของพรรคเพื่อไทยถูกรับหลักการ พร้อมจะแก้ไขว่าด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ​ที่ให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งการสมัครแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ที่เนื้อหากำหนดว่าให้การสมัคร ส.ส.เขต ไม่ต้องจับหมายเลข และให้ไปจับหมายเลขหลังจากที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจขัดหลักการ ดังนั้นพร้อมจะแก้ไข ให้เป็นเมื่อส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งแล้ว เพียง 1 เขตเลือกตั้ง ให้จับหมายเลข และให้ใช้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต เป็นหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

 

     ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายปิดด้วยว่า สำหรับการแก้ไขให้ใช้หมายเลขเลือกตั้ง ส.ส. เดียวกันทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่กฤษฎีการะบุโดยอ้างถึงมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ไม่มีความใดที่กำหนดถึงเงื่อนไขหรือระยะเวลา ดังนั้นเชื่อว่า เนื้อหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย สามารถนำไปสู่การแก้ไขในร่าง พ.ร.ป.ได้
 

 

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

     กระทั่งเวลา 17.35 น.  หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เสร็จสิ้นในขั้นตอนการอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... แล้วเสร็จ ได้ถึงขั้นตอนของการลงมติว่า จะรับหลักการหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของที่ประชุม 

 

     ทั้งนี้ก่อนการลงมติ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ลงมติพร้อมกันทีเดียว 4 ฉบับ ทั้งของ ครม. , พรรคเพื่อไทย , พรรคก้าวไกล และของพรรคร่วมรัฐบาล แต่นายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้แยกการลงมติรายฉบับ เพราะมี สว. อภิปรายระบุว่า มีบางฉบับที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการลงมติพบว่าเสียงข้างมาก 429 เสียงให้ใช้การลงมติแบบแยกรายฉบับ 
 

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติพบว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง (ฉบับที่...) พ.ศ... ทั้ง 4 ฉบับ 

 

โดย ฉบับของ ครม. รับหลักการ 609 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

 

ฉบับของพรรคเพื่อไทย รับหลักการ 420 เสียง ต่อ 205 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง

 

ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล รับหลักการ 598 เสียง ต่อ 26 เสียง และงดออกเสียยง 12 เสียง

 

และ ฉบับของพรรคก้าวไกล  รับหลักการ  418 เสียง ต่อ 202 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง 

 

 

ฉบับของ ครม. รับหลักการ 609 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

ฉบับของพรรคเพื่อไทย รับหลักการ 420 เสียง ต่อ 205 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง

ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล รับหลักการ 598 เสียง ต่อ 26 เสียง และงดออกเสียยง 12 เสียง

 ฉบับของพรรคก้าวไกล  รับหลักการ  418 เสียง ต่อ 202 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง 

logoline