svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิเคราะห์ เจาะลึกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

22 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาติตะวันตกกำลังระดมความคิดที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียหากบุกยูเครนในขณะที่วุฒิสภาสหรัฐก็กำลังจัดทำรายการคว่ำบาตรโดยเรียกว่า "the mother of all sanctions" หรือมารดาแห่งการคว่ำบาตรทั้งปวง

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็บอกว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน "จะไม่เคยเห็นมาตรการคว่ำบาตรอย่างที่เขาจะลงโทษมาก่อน" อย่างไรก็ตาม นักการทูตตะวันตกยังปฏิเสธที่จะระบุความชัดเจนของการลงโทษเพื่อปล่อยให้รัสเซียคาดเดาแรงกดดันไปพลางๆ แต่พอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

- กำหนดข้อจำกัดทางการเงินซึ่งมาตรการหนึ่งก็คือจะตัดรัสเซียออกจากระบบบริการทางการเงินของโลกหรือที่เรียกว่า "Swift" ที่สถาบันการเงินหลายพันแห่งทั่วโลกในกว่า 200 ประเทศใช้อยู่ ซึ่งจะทำให้ธนาคารของรัสเซียทำธุรกิจในต่างประเทศได้ลำบากมาก มาตรการนี้เคยใช้กับอิหร่านมาแล้วในปี 2012 ทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้จากการค้าน้ำมันมหาศาลรวมถึงการค้ากับต่างประเทศ


แต่ทั้งสหรัฐและเยอรมนียังมีข้อสงสัยว่าการตัดรัสเซียออกจาก SWIFT นั้นเสียหายสูงเกินไปหรือไม่เพราะจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศรวมถึงสหรัฐและเยอรมนีซึ่งมีหลายธนาคารที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินของรัสเซีย  มาตรการ SWIFT จึงอาจจะไม่นำมาบังคับใช้โดยทันที

 

- ดอลลาร์ เคลียริ่ง (Dollar clearing)
สหรัฐสามารถหยุดรัสเซียจากการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทชองชาติตะวันตกใดๆก็ตามที่ยังเปิดช่องให้สถาบันการเงินของรัสเซียทำธุรกรรมด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐได้จะต้องถูกลงโทษ
มาตรการนี้จะทำให้รัสเซียมีข้อจำกัดอย่างที่สุดในการทำมาค้าขายทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างมหาศาลเนื่้องจากการขายน้ำมันและก๊าซของรัสเซียส่วนใหญ่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ

- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ชาติตะวันตกสามารถบล็อคไม่ให้รัสเซียเข้าถึงตลาดพันธบัตรต่างประเทศซึ่งในปัจจุบันความสามารถของสถาบันการเงินของชาติตะวันตกในการซื้อพันธบัตรของรัสเซียก็ถูกจำกัดอยู่แล้ว มาตรการคว่ำบาตรใหม่จะยิ่งยากมากขึ้น และจะทำให้รัสเซียเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้น้อยลง เงินกู้จะมากขึ้น และค่าเงินรูเบิลจะตกลง  

 

- ขึ้นบัญชีดำธนาคารของรัสเซีย
สหรัฐสามารถขึ้นบัญชีดำธนาคารบางแห่งของรัสเซียทำให้ใครก็ตามที่ทำธุรกรรมกับธนาคารเหล่านั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้
รัสเซียจะต้องให้เงินช่วยเหลือแก่ธนาคารและทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เงินเฟ้อและรายได้ลดลง  แต่วิธีการนี้อาจจะส่งผลทางลบแก่นักลงทุนชาติตะวันตกที่มีธุรกรรมกับธนาคารของรัสเซียด้วย

 

- ควบคุมเป้าหมายการส่งออก
ชาติตะวันตกสามารถจำกัดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังรัสเซีย อย่างเช่นสหรัฐที่สามารถห้ามบริษัทต่างๆขายสินค้าที่้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของสหรัฐ ซอฟต์แวร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆโดยเฉพาะไมโครชิฟ เซมิคอนดักเตอร์ซึ่งใช้ในสินค้าหลากหลายไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์หรือสมาร์ทโฟน เครื่องจักร และสินค้าอิเลคทรอนิกส์ สินค้าที่เกี่ยวกับภาคอวกาศและการป้องกันประเทศ

 

-คว่ำบาตรส่วนบุคคล
มาตรการคว่ำบาตรส่วนบุคคลอาจไม่ใช่แค่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแต่หมายถึงคนรอบข้างด้วย ทั้งด้วยการอายัดทรัพย์สิน และห้ามเดินทาง ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรเช่นนี้มีการบังคับใช้แล้วแต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมของรัสเซียมากขึ้น สหรัฐและชาติยุโรปคาดหวังกันว่ากลุ่มชนชั้นนำของรัสเซียที่เจอมาตรการนี้จะช่วยกดดันให้ปูตินเปลี่ยนท่าทีเพราะคนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่งของตัวเองที่อยู่ในต่างประเทศได้รวมถึงลูกหลานที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

Gazprom

- ควบคุมด้านพลังงาน
เศรษฐกิจของรัสเซียต้องพึ่งพาการขายน้ำมันและก๊าซเป็นอย่างมาก ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัสเซีย ชาติตะวันตกสามารถกำหนดให้การซื้อน้ำมันจากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่างก๊าซปรอม (Gazprom) หรือรอสเนฟท์ (Rosneft) ของบริษัทหรือประเทศต่างๆเป็นสิ่งผิดกฏหมายได้
แต่นักการเมืองของเยอรมนีจำนวนหนึ่งมีความกังวลและลังเลที่จะยุติโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2  เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรป
ซึ่งอาจจะสวนทางกับสหรัฐที่สามารถใช้กลไกทางการทูตเพื่อยุติท่อส่งก๊าซแห่งใหม่ซึ่งเชื่อมรัสเซียผ่านทะเลบอลติกไปยังเยอรมนีที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้
แต่การควบคุมการส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียก็จะทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซแพงไปทั่วยุโรปซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน

 

- ห้ามอยู่ในลอนดอน
มาตรการคว่ำบาตรยังสามารถกำหนดหรือห้ามชาวรัสเซียเข้าไปลงทุนหรืออาศัยอยู่เช่นในลอนดอนเป็นต้นเพราะรัฐบาลอังกฤษกำลังปราบปรามเงินของรัสเซียที่ไหลเข้าสู่ลอนดอนโดยผิดกฏหมายทั้งอยู่ในธนาคารหรือแม้แต่ในอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษจนมีการตั้งฉายาให้กับกรุงลอนดอนว่าเป็น"ลอนดอนกราด"
รัฐบาลอังกฤษแถลงว่ากำลังแก้ปัญหานี้ด้วยการตรวจสอบความร่ำรวยที่ไม่สามารถอธิบายที่มาได้แต่รัฐบาลสหรัฐมองว่ารัฐบาลอังกฤษยังทำจริงจังไม่พอ

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อก็คือจะทำอย่างไรหากรัสเซียรุกรานยูเครนแบบเบาๆอย่างที่โจ ไบเดนเคยพูดไว้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะยังคงกำลังทหารไว้รอบๆยูเครนเป็นเวลาอีกหลายเดือนขณะที่ใช้การโจมตีทางไซเบอร์ให้ยูเครนอ่อนแอ

 

มีนักการทูตทั้งในสหรัฐและยุโรปหลายคนมองตรงกันว่าหลายประเทศในตะวันตกยังขาดเอกภาพในการกดดันรัสเซีย  บางประเทศที่มีความใกล้ชิดกับรัสเซียอย่างเช่นฮังการี อิตาลี และออสเตรียอาจไม่เต็มใจในการคว่ำบาตรรัสเซียมากนัก เว้นเสียแต่รัสเซียโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ


นอกจากนั้นรัสเซียเองก็ยังมีพันธมิตรอย่างจีนและประเทศอื่นๆให้การสนับสนุนอยู่เช่นกัน

แฟ้มภาพ ปูติน ไบเดน ประชุมสุดยอดกันครั้งล่าสุดที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์

logoline