svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ครม. สั่ง อนุทิน ทบทวนเรื่องการรักษาแบบ UCEP ยันติดโควิดยังรักษาฟรี

22 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ครม. สั่ง "อนุทิน" ทบทวนเรื่องการรักษาแบบ UCEP ยันติดโควิดยังรักษาฟรี ขณะที่ สธ. รับลูกยันระบบ UCEP รักษาโควิดยังคงเดิม พร้อมเตือน รพ.เอกชน ห้ามปฏิเสธรับผู้ป่วย

     ความคืบหน้ากรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องขอกำหนดเกณฑ์การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน หรือ ยูเซป (UCEP) เป็นการปรับให้ผู้ป่วยเข้ารักษาฟรีตามสิทธิสุขภาพของตนเอง เช่น ประกันสังคม บัตรทอง เริ่ม 1 มี.ค. นี้ 

 

     ล่าสุดวันนี้ (22 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการประกาศยกเลิกยูเซ็ป ว่า ครม. มีความเป็มห่วงต่อประชาชนให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวน และชะลอการประกาศออกไปก่อน เพราะจะต้องไปทำความเข้าใจและซักซ้อมการให้บริการ และปรับบริการเพื่อที่จะรับผู้ป่วยสีเขียว เนื่องจากขณะนี้ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทำให้มีผู้ป่วยสีเขียวค่อนข้างมาก และมีปัญหาในเรื่องของการรับโทรศัพท์ เช่น 1330 ไม่มีผู้รับสาย ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนั้นจึงให้ไปเพิ่มบริการให้ดีก่อน และยืนยันว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ยังรักษาฟรีอยู่  

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข
 

     ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้กล่าวถึงประเด็นแนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโควิด-19 UCEP-PLUS ว่า เดิมกระทรวงสาธารณสุขจะดีเดย์ วันที่ 1 มี.ค. นี้ เพื่อปรับระบบการบริการ โดยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปรักษาตามสิทธิ์ พร้อมเตรียมการจะประกาศการใช้ โควิด-19 UCEP-PLUS โดยให้ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินประกาศกับผู้ป่วยที่เป็นสีเหลืองกับสีแดง ให้ใช้บริการฟรีได้ทุกที่ทั้งภาครัฐเอกชนนั้น

 

     แต่เมื่อวันนี้ ครม. ได้มีความเห็นมอบให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนในเรื่องกระบวนการ และการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการติดต่อ การรักษา และช่องทางต่างๆ รวมทั้ง การจะเกิด UCEP-PLUS ในอนาคต และการปรับระบบเน้นการรักษาตัวที่บ้าน ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงจะรับเรื่องนี้มาทำความเข้าใจกับภาคประชาชน สถานพยาบาล และทบทวนขบวนการต่าง ๆ ต่อไป 

 

     ส่วนเรื่องที่ 2 เรื่องการประกาศยกเลิก โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน ทาง ครม. ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนให้สอดคล้องกัน โดยสรุปก็คือ การดูแลผู้ป่วยโควิด ยังเป็น UCEP เช่นเดิม เรื่องกรอบเวลาจะนำเข้าประชุมคณะที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะที่ ครม. ได้ฝากกระบวนการดูแลผู้ป่วยมา ใน 2 - 3 ประเด็น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในเรื่องช่องทางการสื่อสาร ทาง 1330 และ ไลน์แอดต่าง ๆ และการรับส่งผู้ป่วย
 

 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

     นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในส่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะซักซ้อมตามกระบวนการต่าง ๆ หลังระบบ UCEP ยังคงเดิม ส่วนเรื่อง Hospitel ในขณะนี้เหลืออยู่จำนวนเท่าใดนั้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ทางกรมใช้อำนาจในการออกเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว โดยปรับปรุงการทำงานร่วมกับสถานพยาบาล โดยปัจจุบันยังมีให้บริการถึง 200 แห่ง มีจำนวนเตียง กว่า 3.6 หมื่นเตียง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีทั้งภาครัฐและเอกชน และยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลผู้ป่วย

 

     เมื่อถามว่า หลังติดเชื้อเพิ่มขึ้น มี Hospitel มาเปิดเพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีมาเปิดเพิ่มบ้าง แต่ไม่มาก มีเพียง 2 - 3 แห่ง เนื่องจาก Hospitel เดิม อัตราการเข้าพัก อยู่ที่ 30% ได้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ที่ปฏิเสธรับผู้ป่วย นพ.ธเรศ กล่าวว่า กลไกของ UCEP ในการรักษาโควิดยังมีผลอยู่ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยโควิด ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแล ไม่สามารถปฏิเสธได้ หากพบผู้ป่วย แล้วไม่มีศักยภาพในการดูแล ต้องส่งต่อ โดยไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ เพราะจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล

 

     ขณะที่เรื่องของ ATK นพ.ธเรศ ยืนยันว่า กระบวนการรักษา ATK ยังเป็นกระบวนการหลักในการตรวจสอบ หาก ATK เป็นบวก ก็จะได้รับการดูแลต่อในสถานพยาบาล เช่น Home Isolation และ Community Isolation แต่หากมีภาวะที่บริษัทประกันต้องการผล RT-PCR ทางกรม ได้เรียกทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ชี้แจงในเรื่องนี้แล้วว่าให้ทบทวนเรื่องนี้
 

 

ครม. สั่ง อนุทิน ทบทวนเรื่องการรักษาแบบ UCEP ยันติดโควิดยังรักษาฟรี

logoline