svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จีน เผย ทดลองฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น V-01 พบ ได้ผลเกินคาดกับ"โอมิครอน"

22 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จีน เผย ผลทดลองวัคซีนชนิด โปรตีนลูกผสม V-01 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้น จากตัวอย่างกว่าหมื่นราย พบผู้เข้าร่วมการทดลองติดเชื้อไวรัสฯ เพียง 110 ราย ระบุ ได้ผลเกินคาดกับ "โอมิครอน"

22 กุมภาพันธ์ 2565 จีนเผยผลทดลองฉีดวัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสม V-01 เป็นโดสกระตุ้นใน ปากีสถาน และมาเลเซีย ปรากฏว่า สามารถป้องกันไวรัสโคโรนา2019 สายพันธุ์ โอมิครอน ได้ดี โดยสถาบันชีวฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และบริษัท ลิฟซอน ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป อิงก์ (ลิฟซอนไบโอ) ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ได้ร่วมกันพัฒนา วัคซีน V-01

 

ลิฟซอนไบโอ ระบุข้อมูลเบื้องต้นว่า ได้ทำการทดลองฉีดวัคซีน V-01 เป็นโดสกระตุ้น หรือวัคซีนหลอกในอัตราส่วน 1 ต่อ 1ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีสุขภาพดีและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดสสองด้วยวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 3-6 เดือนแล้ว จำนวน 10,241 คน และพบผู้เข้าร่วมการทดลองติดเชื้อไวรัสฯ จำนวน 110 ราย

จีน เผย ทดลองฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น V-01 พบ ได้ผลเกินคาดกับ"โอมิครอน"

โดยอัตราการติดเชื้อรายบุคคลที่ติดตามผลในเวลาหนึ่งปี (person-year infection rate) พบว่า ในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีน V-01 เป็นโดสกระตุ้น มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 6.73 ในขณะที่อัตราการติดเชื้อในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนหลอกอยู่ที่ร้อยละ 12.8

 

ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนโดยสัมบูรณ์หลังการฉีดวัคซีน V-01 เป็นโดสกระตุ้น (sequential booster) อยู่ที่ร้อยละ 61.35 ซึ่งสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญและเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

 

นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อไวรัสฯ จากกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ติดเชื้อ โดยพบตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 60 รายการ ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างจัดลำดับทางพันธุกรรม ซึ่งผลการวิจัยบ่งชี้ว่าวัคซีน V-01 โดสกระตุ้น สามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอมิครอนได้เป็นอย่างดี และยังไม่พบปัญหาที่น่ากังวลอีกด้วย

จีน เผย ทดลองฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น V-01 พบ ได้ผลเกินคาดกับ"โอมิครอน"

ทั้งนี้วัคซีน V-01 เป็น วัคซีนชนิด โปรตีนลูกผสม ที่มีส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ (RBD) ในฐานะแอนติเจน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสฯ ที่จับกับตัวรับเอซีอี2 (ACE2) ในเซลล์มนุษย์ โดยกระบวนการจับกับตัวรับนั้นทำให้เชื้อไวรัสฯ เข้าถึงเซลล์มนุษย์และนำไปสู่การติดเชื้อในที่สุด วัคซีน V-01 นี้ จะมุ่งเป้าไปที่ส่วนยึดจับกับตัวรับ เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสฯ ไม่ให้สามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้นั่นเอง

 

วัคซีนที่มุ่งเป้าที่ส่วนยึดจับกับตัวรับนั้น สามารถผลิตและขยายกำลังการผลิตได้ง่าย เมื่อเทียบวัคซีนชนิดอื่น ๆ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ ต้องการโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสฯ เพียงเล็กน้อยในการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายและยังง่ายต่อการจัดเก็บและขนส่งอีกด้วย

 

ลิฟซอนไบโอ ได้ยื่นขอการทดลองวัคซีน V-01 ทางคลินิกระยะที่ 3 ในกว่า 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอียิปต์, อินโดนีเซีย, รัสเซีย, รวันดา, แอฟริกาใต้, ปากีสถาน, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและสถาบันวิจัยอื่น ๆ ของจีน เผยผ่านวารสารเซลล์ รีเสิร์ช (Cell Research) ว่า

การฉีดวัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสมที่มีส่วนยึดจับกับตัวรับเป็นโดสกระตุ้นอาจเป็นแผนการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมที่สุดในอนาคต

logoline