svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอธีระ ชี้ บุคลากรแพทย์ใกล้ภาระล้น ระวังรับไม่ไหว หากควบคุมโรคไม่ดี

20 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นพ.ธีระ ชี้ เรื่องความไม่รุนแรงของ Omicron เป็นภาพลวงตา ระบุ ที่บอกว่าเตียงพอ เพราะผู้ป่วยอยู่ HI/CI ต้องใช้บุคลากรดูแลจำนวนมาก ระวังกลายเป็นปัญหาฝุ่นใต้พรม ถ้าควบคุมโรคไม่ดี แนะ ประเมินสถานะของเราให้ชัด ไม่ใช่รีบจ้ำตามกระแสโลก คนอื่นขาลง แต่เรายังขาขึ้น

20 กุมภาพันธ์ 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และภาพลวงตาเรื่องความไม่รุนแรงของ Omicron กับภาระต่อระบบสุขภาพ ระบุว่า

หมอธีระ ชี้ บุคลากรแพทย์ใกล้ภาระล้น ระวังรับไม่ไหว หากควบคุมโรคไม่ดี

ทะลุ 423 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,536,878 คน ตายเพิ่ม 7,800 คน รวมแล้วติดไปรวม 423,498,669 คน เสียชีวิตรวม 5,900,118 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน บราซิล เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 98.02 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 93.87

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.95 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 33.88 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...เอเชีย...

ขณะนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวัน และจำนวนเสียชีวิตต่อวันของเอเชียนั้นเริ่มใกล้เคียงยุโรป ทั้งนี้ประเทศในทวีปยุโรปเป็นขาลง ส่วนเอเชียนั้นแม้ภาพรวมจะเป็นขาลง แต่หลายประเทศยังเป็นขาขึ้นและยังไม่ถึงพีค รวมถึงไทยเราด้วย

 

...ภาพลวงตาเรื่องความไม่รุนแรงของ Omicron กับภาระต่อระบบสุขภาพ

เรามักเห็นข่าวแต่ละวันที่ประชาสัมพันธ์ว่าเตียงเพียงพอ มั่นใจรับมือได้ เอาอยู่ แต่หน้างานจริงจะทราบกันดีว่าแม้เห็นตัวเลขเตียงในรพ.ดูว่างกว่าระลอกเดลตา แต่เคสจำนวนมากไปกระจุกอยู่ที่บ้าน หรือสถานที่พักพิงในชุมชน ซึ่งต้องทราบว่า ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ไปดูแลติดตามอาการผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนมาก ยังไม่นับภาระงานหลักที่รพ.ต้องดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ อีกมากมาย หลายต่อหลายรพ.ต้องระดมบุคลากรไปช่วย HI/CI มากขึ้น

 

ที่กล่าวมาข้างต้น ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากไม่ควบคุมป้องกันโรคให้ดี มีการติดเชื้อแพร่เชื้อจำนวนมากเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนฝุ่นใต้พรมที่สะสม จนสุดท้ายจะล้นท้นออกมา หรือรอวันที่พรมรองรับไม่ไหวฝุ่นก็จะคลุ้งออกมาให้เห็น

 

...เหนืออื่นใด สิ่งที่จะต้องตระหนักและเตรียมรับมือคือ ภาวะผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว แต่จะมีภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID

หมอธีระ ชี้ บุคลากรแพทย์ใกล้ภาระล้น ระวังรับไม่ไหว หากควบคุมโรคไม่ดี

หมอธีระ ชี้ บุคลากรแพทย์ใกล้ภาระล้น ระวังรับไม่ไหว หากควบคุมโรคไม่ดี

New York Times เผยแพร่บทความที่ดีมาก และมีรูปประกอบสวยงาม สรุปให้เห็นข้อมูลวิชาการจากแหล่งต่างๆ สะท้อนให้ตระหนักว่า ภาวะ Long COVID นั้นเป็นความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นได้มากมายหลายอวัยวะ ตั้งแต่สมองและระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร และอื่นๆ รวมถึงภาวะผิดปกติทางจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ และมีการตรวจพบชิ้นส่วนของไวรัสตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย นอกจากนี้งานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นว่า ติดเชื้อแล้วรักษาแต่ไม่จบ เพราะสามารถก่อให้เกิดปัญหาภูมิต่อต้านตนเองหรือ auto-antibody รวมถึงเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังในระบบต่างๆ จนนำไปสู่อาการผิดปกติตามมา

 

ดังนั้นการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

เหนืออื่นใด นโยบายและมาตรการรัฐนั้น ควรมีการประเมินสถานะของเราให้ดี ไม่ใช่รีบจ้ำตามกระแสโลก คนอื่นขาลง แต่เรายังขาขึ้น ถ้าจ้ำตามกิเลสมุ่งหาเงินเป็นหลัก ผลกระทบที่ตามมาจะไม่คุ้มกันครับ

...อย่าประมาท...

อ้างอิง

Keller J. How Long Covid Exhausts the Body. New York Times. 19 February 2022.

logoline