svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“สมรสเท่าเทียม” สิทธิของคู่รัก “LGBTQ+” ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

14 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เทศกาลวาเลนไทน์ ปี 2565 ของ “LGBTQ+” ที่ยังคงไม่ได้ฉลองด้วย “สมรสเท่าเทียม” กฎหมายไทยถูกแขวนต่อ ขณะที่ 30 ประเทศทั่วโลกให้ “คู่รักเพศเพศเดียวกัน” แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย

เข้าสู่วาเลนไทน์ หรือเทศกาลแห่งความรักที่เหล่าคนมีคู่ได้หลายคนได้ถือฤกษ์ดี จูงมือกันเข้าประตูวิวาห์กันอย่างชื่นมื่น หลายพื้นที่จัดกิจกรรมพิเศษให้แก่คู่รักที่จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสในวันพิเศษนี้ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศไทย การจดทะเบียนสมรสยังคงทำได้แค่คู่รัก “ชาย-หญิง” เท่านั้น

 

แม้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีการแสดงออกที่ยอมรับ “คู่รักที่ความหลากหลายทางเพศ” เพิ่มมากขึ้น ในทางปฏิบัติมีรักเพศเดียวกันหลายคู่ที่แต่งงานกันและใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนับ 10 ปี  แต่ถึงอย่างนั้นในทางกฎหมายกลับสวนทาง การแต่งงานของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงไม่มีการรองรับทางกฎหมาย แม้จะมีความพยายามในการผลักดันกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” แต่จนถึงบัดนี้กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ไปถึงฝั่งฝัน หรือเรียกได้ว่าแท้งแล้วแท้งอีก

 

“สมรสเท่าเทียม”  สิทธิของคู่รัก “LGBTQ+” ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” หรือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. ....  ซึ่ง นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล  ได้มีการผลักดันเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนนิยามของ “การสมรส” จากสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง “ชายและหญิง” เป็น “บุคคล 2 คน” เพื่อให้ทุกคู่สมรสไม่ว่าเพศใดได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด 

 

นอกจากนี้ยังได้สิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคน คู่รักหลากเพศ หรือ LGBTQ+ เกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“สมรสเท่าเทียม” มีเนื้อหาสาระสำคัญ ได้แก่

 

“การหมั้น” คือการ “ทำสัญญาว่าจะสมรสตามกฎหมาย”  โดยวางหลักให้การหมั้นจะทำได้เมื่อ "บุคคลทั้งสองฝ่าย"  ซึ่งจากเดิมระบุว่า “ชาย-หญิง” อายุ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีที่ยังอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา อีกทั้ง “ไม่จำกัดให้ของหมั้นและสินสอด” ต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายชาย

 

“ปรับอายุการสมรส”  จาก 17 ปี เป็น 18 ปี โดยกำหนดให้ “บุคคลทั้งสองฝ่าย” สามารถทำการสมรสได้ ไม่มีข้อจำกัดในด้านเพศ และปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ก็ยังยึดหลักการเดิมที่หากมีเหตุจำเป็น

 

“สมรสเท่าเทียม”  สิทธิของคู่รัก “LGBTQ+” ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

“ด้านทรัพย์สินระหว่างสมรส”  ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก็ตาม ยังเหมือนเดิม รับมรดกของคู่รักได้

 

นอกจากนี้ยังมีสิทธิอื่น ๆ เช่นสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ,สิทธิในการเซ็นยินยอมรักษาพยาบาล ,หน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาล/ผู้พิทักษ์ ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ , สิทธิรับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรส,สิทธิในการเปลี่ยนสัญชาติอีกฝ่ายเป็นสัญชาติไทย และ  สิทธิในการขอวีซ่าเดินทางในฐานะคู่สมรส เป็นต้น

แม้เรื่องนี้จะถูกพูดถึงมาโดยตลอดจน #สมรสเท่าเทียม ติดเทรนด์อันดับ 1 ในโลกทวิตเตอร์ หรือแม้กระทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศหลายคนออกมาเป็นกระบอกเสียง ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่าน support1448.org ซึ่งขณะนี้มีกว่าสามแสนรายชื่อ

 

แต่ล่าสุด (9 ก.พ. 65)  ที่ประชุมสภา ฯ ได้มีมติเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไปอีก 60 วัน ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 219 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ประสงค์จะลงคะแนน 1 เสียง

 

“สมรสเท่าเทียม”  สิทธิของคู่รัก “LGBTQ+” ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

เรียกได้ว่า “สมรสเท่าเทียม” ถูกแขวนไปอีก 60 วัน และคงต้องลุ้นอีกครั้งว่าเมื่อครบกำหนด 60 วัน เหล่าผู้มีเกียรติในสภาจะได้กลับไปศึกษาและเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ที่นับเป็นความหวังของเหล่าบุคคลที่มีความหลากหมายทางเพศ และการสมรสเท่าเทียมจะสามารถไปถึงฝั่งฝันและเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงหรือไม่

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศที่เปิดโอกาศให้มีการ “สมรสเท่าเทียม” หรือให้ “คู่รักเพศเพศเดียวกัน” แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมายได้แก่

 

1. เนเธอร์แลนด์

 

2. สวีเดน

 

3. ฝรั่งเศส

 

4. ไอร์แลนด์

 

5. เยอรมนี

 

6. เบลเยียม

 

7. โปรตุเกส

 

8. อุรุกวัย

 

9. กรีนแลนด์

 

10. ออสเตรเลีย

 

11. สเปน

 

12. ไอซ์แลนด์

 

13. นิวซีแลนด์

 

14. โคลอมเบีย

 

15. เมอร์บิวดา

 

16. แคนาดา

 

17. อาร์เจนตินา

 

18. สหราชอาณาจักร

 

19. ฟินแลนด์

 

20. แอฟริกาใต้

 

21. เดนมาร์ก

 

22. ลักเซมเบิร์ก

 

23. หมู่เกาะแฟโร

 

24. นอร์เวย์

 

25. บราซิล

 

26. สหรัฐอเมริกา

 

27. มอลตา

 

28. ออสเตรีย

 

29. ไต้หวัน

 

30. คอสตาริกา

logoline