svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ความโดดเดี่ยว"พล.อ.ประยุทธ์"ที่กำลังเผชิญ

05 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"…ทุกคนอยากจะเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าอยากเลือกตั้งก็ต้องทำให้กฎหมายลูกเสร็จ โดยสภาต้องไม่ล่ม ยืนยันว่ากฎหมายสำคัญที่รัฐบาลออกไปทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้นและต้องผ่านให้ได้ ถ้าทุกอย่างรวนไปหมดก็จะแก้อะไรไม่ได้และกลับไปสู่ที่เดิม…"

นับเป็นคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 65

 

นี่เป็นเพียงบางห้วงบางตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับพายุการเมืองที่กำลังกลับมาโหมซัดรัฐบาลลุงตู่ อีกระลอกภายหลังพรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมกทม.เขต 9 หลักสี่ อย่างย่อยยับ  

 

เป็นการตอบคำถามสื่อที่กินเวลานานกว่า 25 นาที ซึ่งล้วนมีเนื้อหาสะท้อนความเป็นไปของเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ นั่งอยู่ กำลังสั่นคลอนพร้อมหักโค่นลงมาในระยะเวลาอันใกล้นี้ หรือจะอดทนซ่อมแซมขาเก้าอี้ให้ฝ่าลมมรสุมลากไปจนประกาศยุบสภาตามวาระ 

โดยเฉพาะกับคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เนชั่นทีวี คัดลอกมานำเสนอข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงความต้องการของคนชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ว่า สถานการณ์จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ก็ขึ้นอยู่ในกำมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเป็นตัวกำหนด แม้ว่าอำนาจยุบสภาอยู่ในการลงนามของคนชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม 

 

ยิ่งเอ็กซเรย์ลงไปถึงอารมณ์ความต้องการของแต่ละฟากฝ่ายยามนี้ ประหนึ่งว่า กำลังสร้างสภาวะ "การโดดเดี่ยว" นายกฯ อย่างหนักหน่วง 

 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของผู้กองคนดัง ที่ริขย่มนายพลผู้กำลังเป็นผู้นำประเทศ กลายเป็นปัญหาคาราคาซังกินเวลามายาวนานถึงขั้นแตกตัวไปร่วมพรรคการเมืองเศรษฐกิจไทย ที่พร้อมจะยกมือหนุนหรือล้มรัฐบาลในสภาได้ทุกเมื่อ ในจังหวะร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณา มิพักกำลังสร้างภาพหลอนยาวไปถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่า รัฐนาวาลุงตู่จะอยู่ไปถึงฤดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือไม่ 

หรือเอาแค่ใกล้ๆนี้ก่อนเลย กับการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17 -18 ก.พ.นี้  เหมือนเป็นการวอร์มอัพก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการเปิดสภาสมัยนี้ แน่นอนว่าประเด็นของการอภิปรายพุ่งตรงไปที่คนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหลัก เพราะเป็นผลจากการเลือกตั้งซ่อมที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลพ่ายแพ้ยับเยิน ทำให้ฝ่ายค้านต้องโหนกระแส ตีเหล็กต้องตีตอนร้อนที่สุดอย่างนี้ 

 

ครั้นหันกลับไปดูบริวารรอบตัวนายกฯที่จะออกมาเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯในช่วงการอภิปรายแทบจะไม่เห็นขุนพลฝีปากกล้าสักเท่าไหร่ จะมีใครเหลือบ้างที่ยืนหยัดสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่พล.อ.ประยุทธ์  ดังเป็นที่ประจักษ์ผ่านปรากฎการณ์แตกตัวของก๊วนธรรมนัส ออกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ขณะที่องครักษ์ชายหญิง ที่เคยพิทักษ์ลุงตู่ ต่างก็มีคดีความ โดนตัดสิทธิทางการเมืองบ้าง และหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาบ้าง

 

ไม่ว่าจะเป็น สิระ เจนจาคะ หรือ ปารีณา ไกรคุปต์ ลำพังจะอาศัย แรมโบ้อีสาน ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ สามารถทำได้แค่การขับเคลื่อนนอกสภา ในฐานะผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกฯ (ประจำตัว พล.อ.ประยุทธ์  นายกฯ) เท่านั้น ประการสำคัญตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง ยังไม่มีความชัดเจนที่จะประกาศขอเป็นหัวเรือใหญ่นำทัพพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ยิ่งจะทำให้กลุ่มอื่นๆในพลังประชารัฐ เกิดการยับยั้งชั่งใจหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปต่อ  

 

ขณะเดียวกัน ความพยายามโดดเดี่ยวพล.อ.ประยุทธ์ ยังถูกตีกระหน่ำซัมเมอร์เซล จากฝ่ายที่มีความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังปรากฎภาพการเคลื่อนไหวรณรงค์ของ สมชัย ศรีสุทธิยากร รวบรวมรายชื่อประชาชน และพรรคการเมืองเสนอสภาแก้ไขรธน.มาตรา 272  ให้ปิดสวิทซ์ ส.ว. ตัดอำนาจเลือกนายกฯ  

 

สมชัย อ้างว่า มีถึง 7 พรรคที่สนับสนุนแนวทางปิดสวิทซ์ ส.ว.ไม่หนุนลุงตู่กลับมาเป็นนายกฯ ไม่เฉพาะพรรคฝ่ายค้านยังมีพรรครัฐบาลอย่างภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคเกิดใหม่เช่นพรรคกล้า ร่วมเข้าชื่อสนับสนุนแก้ไข พร้อมสำทับอีกว่า มีส.ส.สนับสนุนแล้วกว่า 265 ราย รวมถึงก๊วนธรรมนัส เป็นการเพิ่มน้ำหนักการรณรงค์ของสมชัยให้เห็นว่า พลังโดดเดี่ยว พล.อ.ประยุทธ์ ในสภารอบนี้ มีมากมายมหาศาลแตกต่างจากการเคลื่อนไหวขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ประเด็นเดียวกันนี้จากปีที่ผ่านมา มิพักกล่าวถึงพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคสร้างอนาคตไทย ที่เคยมีเลือดเนื้อเชื้อไขจากพลังประชารัฐ แตกหน่อออกไปตั้งพรรคใหม่ ประกาศไม่สนับสนุนคนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีเสนอชื่อนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน  

 

ฉะนั้น จงอย่าได้แปลกใจ กับคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 65  ที่ว่า " …ผมไม่จำเป็นต้องสงวนเป็นนายกฯไปตลอดชาติ  ผมก็ทำเท่าที่ผมทำได้ ฉะนั้นไม่ต้องมากังวลว่าผมอยากจะมีอำนาจต่อไป…" 

 

เป็นการแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์เพลานี้ ชายชาติทหารชั้นนายพล "พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับกำลังอยู่บนสนามรบทางการเมืองอย่างโดดเดี่ยวและเพลี่ยงพล้ำ พร้อมทิ้ง "อาวุธสุดท้าย" ในการชี้ชะตาประเทศได้ทุกเมื่อ 

 

สำคัญ "อาวุธ" ที่ว่านั่นคืออะไร และมีระดับความร้ายแรงภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตยหรือไม่

logoline