svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

3 ทางแพร่งวัดใจ"บิ๊กตู่"เลือกแบบไหน?

05 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากทิศทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้ ดูจะมี 3 อย่าง ให้เลือก คือ “อยู่ - ยื้อ - ยุบ” แต่ความเป็นไปได้ จะออกแนวทางไหนได้บ้าง

จะเรียกว่า ทาง 3 แพร่ง ของนายกฯ ก็คงจะว่าได้

 

1.ถอดใจ ยุบสภาฯ หรือ ลาออก โดยไม่รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯต่อ

 

-วิธีการนี้ แปลว่า เลิกเล่นการเมือง เพราะถ้าถอดใจ และไม่รับการเสนอชื่ออีก ก็เท่ากับยุติบทบาท หยุดเส้นทางรัฐบาลประยุทธ์เอาไว้ที่ 7 ปีกว่า เกือบๆ 8 ปี และยังมีประเด็นวาระครบ 8 ปีนายกฯ ในวันที่ 22 พ.ค. คือ วันยึดอำนาจ – ไม่นับไปถึงวันเป็นนายกฯ รออยู่

 

โดยแหล่งข่าวคนสนิทใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินสถานการณ์แล้ว อยากให้นายกฯหยุดงานการเมืองไว้เพียงเท่านี้ ในช่วงที่ยังมีคนรักและชื่นชมผลงาน ดีกว่าลากต่อไปแล้วลงไม่สวย ซึ่งเหตุและผลขณะนี้ นายกฯไม่มีคดีความอะไรที่น่ากังวล เรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ก็เป็นไปตามกลไกการเมือง ค่อนข้างเอาผิดยาก หากลงจากอำนาจตอนนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะไม่"โดนเสือกัด"

 

 

 

2.ยึดพรรคพลังประชารัฐ แต่เมื่อจากสภาพพรรคเวลานี้ คงไม่ต่างจาก “ซาก”

 

-วิธีการนี้ กลุ่ม 6 รัฐมนตรี ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยหวังว่าถ้า "บิ๊กตู่" ยึดพรรค จัดการปัญหาต่างๆ ก็จะเรียกคะแนนนิยมคืนมาได้

 

ทว่า เจตนาแฝงของกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่ยังหนุน ก็คือ ยื้อเวลาอยู่ในอำนาจและตำแหน่งต่อไป ซึ่งไม่ต้องเหนื่อยเลือกตั้งเร็ว โดยอาศัยเครดิตนายกฯ ไปเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าทางไหน จะยุบหรืออยู่ครบวาระ กลุ่มก๊วนเหล่านี้ ก็จะประเมินอีกครั้งว่าควรอยู่กับต่อหรือพอแค่นี้ เพราะพร้อมดีดตัวตลอดเวลา ถ้าอยู่แล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีทางเลือกให้ไปหลายทาง ทั้งกลับบ้านเดิมอย่างเพื่อไทย หรือไปร่วมกับพรรคใหม่อย่างสร้างอนาคตไทย

 

แต่คำถามสำคัญ คือ แนวทางยึดพรรค "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร จะยอมหรือไม่ เพราะเพิ่งประกาศดังๆ ไม่นานมานี้ว่า ทั้งพลังประชารัฐ และเศรษฐกิจไทย เป็น "พรรคผมทั้งนั้น" ซึ่งล่าสุดมือดี คือ เอกชัย หงส์กังวาล หยิบยกประโยคนี้ ไปร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบประเด็นครอบงำพรรคเศรษฐกิจไทย จนทำให้ พล.อ.วิชญ์ ต้องลบโพสต์ และให้แอดมินมาแก้

 

 

 

3.ย้ายไปพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือตั้งเตรียมไว้ ซึ่งล่าสุดมีข่าว 2 พรรค คือ

 

พรรคไทยสร้างสรรค์ ที่มีข่าวว่า ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะแกนนำกลุ่ม กทม. พลังประชารัฐ เตรียมรอไว้ โดย "บิ๊กตั้น" ถือเป็นมือทำงานของนายกฯ แต่เมื่อตรวจสอบดูข้อมูลจาก กกต. พบว่ายังไม่มีสาขา และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยพรรคนี้ตั้งเมื่อ 25 ต.ค.64 ซึ่งที่ทำการตั้งอยู่ ถนนสุโขทัย

 

ถัดมา คือ พรรคไทยชนะ มีข่าวว่า มือทำงานอีกคนของนายกฯ ไปจดแจ้งจองชื่อไว้กับ กกต.แล้ว และจากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด พบว่าพรรคนี้จัดตั้งเมื่อ 31 ส.ค. 64 โดยมีกรรมการบริหารพรรค 17 คน สมาชิก 17 คน ยังไม่มีสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเช่นกัน โดยที่ทำการพรรค ตั้งอยู่แถวๆ บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และอีกที่หนึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจ คือ อาคารนันทิรุจ ห้อง 1002 สุขุมวิท ซอย 8 กทม.

 

จาก 3 แนวทางก่อนหน้า ทำให้มีข้อสังเกต ดังนี้

 

1.แนวทางที่ 2 กับ 3 คือ ยึดพลังประชารัฐ หรือย้ายไปพรรคใหม่ ไม่ได้หมายถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถอยู่จนครบวาระ เพราะคำว่ายุบสภาฯ จ่อเคาะประตูได้ทุกเมื่อ

 

2.ตัวพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องกังวลกับระยะเวลา การสังกัดพรรคการเมือง เพราะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.

 

3."บิ๊กตู่"เล่นสูตรเดิม คือ ไม่ทำพรรคเอง รอให้พรรคเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แม้แนวทางยึดพลังประชารัฐ ก็มีข่าวว่าไม่ได้หวังนั่งหัวหน้าพรรค

 

4.มีข่าวว่าจะผลักดัน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งถูกตั้งมาเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค จะก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้าพลังประชารัฐ ทั้งกรณียึด พปชร. สำเร็จ หรือจะย้ายไปพรรคใหม่

 

5.มีข่าวว่าจะนำพรรคลุงกำนัน คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย มาควบรวม

 

6.วิธีการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เลือกเป็นหัวหน้าพรรคเอง แต่ใช้วิธีรอเสนอชื่อแคนดิเดต ก็เพื่อที่ว่าสมมติพรรคตัวเองไม่ชนะเลือกตั้ง ก็หายเงียบเข้ากลีบเมฆ หรือเรียกว่าวางมือการเมืองทางอ้อม ไม่ต้องดันทุรังเล่นต่อ เพราะมีพรรคต้องรับผิดชอบ

 

7.การย้ายไปพรรคใหม่ ที่ประชาชนยังไม่คุ้นหู อาจกระทบกับบรรดา "ส.ส.นกแล" หมายถึง ส.ส.สมัยแรกที่อาศัยกระแสพรรค และตัวลุงตู่ เข้ามานั่งในสภา เนื่องจากไม่มีคะแนนของตัวเองมากนัก เช่น ส.ส.กทม. และส.ส.ใต้ เกือบทั้งหมดของพลังประชารัฐ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะตัดสินใจเอาอย่างไร ย้ายไปก็เสี่ยง โดยเฉพาะถ้าคะแนนนิยมนนายกฯยังไม่ฟื้น

 

8.ถ้าพรรคใหม่ หรือยึดพลังประชารัฐสำเร็จไปสู้ศึกเลือกตั้ง แล้วได้ ส.ส.ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง ก็จะไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้สภาโหวต จึงถือเป็นงานยากและเสี่ยง

 

มีรายงานว่า ทาง 3 แพร่งของนายกฯนี้ ต้องตัดสินใจภายในเดือนมี.ค. หากขืนทอดเวลาออกไปกว่านั้น อาจดำเนินการบางอย่างไม่ทัน โดยเฉพาะการย้ายไปพรรคใหม่ หรือหากต้องยุบสภฯาเร็ว คือ ราวๆ เดือน พ.ค. ทั้งหมดจึงเป็นการตั้งเวลานับถอยหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

 

 

logoline