svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดร.เอ้"ยันไร้ทุจริตมั่นใจ"เสรีพิศุทธ์"ให้ความเป็นธรรม-โปร่งใส

04 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เอ้ สุชัชวีร์"ยันไม่มีลับลมคมในสมัยนั่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มั่นใจ"เสรีพิศุทธ์"ให้ความเป็นธรรม เล็งสังคายนาทางม้าลายใหม่ เพื่อให้กรณี หมอกระต่ายเป็นเคสสุดท้าย ด้วยการผสานเทคโนโลยีกับกฎหมาย

4 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน เชิญมาชี้แจงเกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ ว่า วันนี้ (4ก.พ.) เป็นการยื่นพร้อมภรรยาครั้งแรก ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นของภรรยาที่มีธุรกิจมั่นคง โดยมีทั้งหนี้สินและทรัพย์สิน แต่ไม่มีใครนำข้อเท็จจริงตรงนี้ไปนำเสนอ ดังนั้น จะเห็นว่าตนได้แสดงรายได้ของภรรยาชัดเจน รวมทั้งใบเสียภาษีอย่างถูกต้อง 

 

สำหรับการตั้งข้อสังเกตุสมัยตนดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีความน่ากังขาต่อการจัดซื้อจัดจ้าง ตนยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดยระบบการจัดซื้อดังกล่าวใช้รูปแบบเดียวกับต่างประเทศ ส่วนคนที่ไปยื่นเรื่องนั้นมีความเกี่ยวข้องกับมหาลัยหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบ และต้องการชี้แจงให้สังคมได้รับรู้ว่า ตนปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมามีความสุจริตโปร่งใสพร้อมเปิดเผยข้อมูลทุกประการจึงไม่มีความกังวลใดๆทั้งสิ้น ด้วยประการหนึ่งเชื่อมั่นในพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในฐานะประธาน กมธ. ว่า จะตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด 

"การที่ผมออกมายืนตรงจุดนี้ ถือข้อพิสูจน์ว่าไม่ได้เอาประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะอดทนเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นใหม่ต่อไป ทั้งนี้ มองว่างานของผม ย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างผม และผู้ที่เสียประโยชน์ไปได้ โดยเฉพาะความพยายามทำให้องค์กรโปร่งใส หรือยกระดับองค์กรให้มีคุณภาพ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่จะมีคนสูญเสียประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว หากทว่ายังเทียบไม่ได้กับงานของผู้ว่าฯกทม." นายสุชัชวีร์ ระบุ 

 

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า กำหนดการที่จะลงพื้นที่ต่อ ภายในนั้นกลับรู้สึกสนุกด้วยว่า ไม่ได้มีเจตนาไปหาเสียง แต่ไปเพื่อศึกษาปัญหา และเสนอวิธีการแก้ไข ประการแรกตนรับรองว่า พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะต้องไม่ตายฟรี และต้องไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแก่ใครหรือผู้ใดอีก 

ทั้งนี้ ตนมีความประสงค์จะกำหนดวันที่หมอกระต่ายเสียชีวิต คือ วันที่ 21 ม.ค. 2565 เป็นหมุดหมายสร้างสำนึกให้คนในสังคม ในฐานะวันขับขี่ปลอดภัยแห่งชาติ คล้ายวันสำคัญของปูชนียบุคคล เช่น สืบ นาคะเสถียร เพื่อว่าสังคมจะได้รำลึกจดจำความสูญเสียในวันนั้น และนำไปเป็นบทเรียน อีกทั้ง ในอนาคตอันใกล้ตนจะทำให้ทางม้าลายมีความศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับสร้างจิตสำนึกไปด้วยกัน

 

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญ คือ องค์กรอนามัยโลกได้ทำการกำหนดความเร็วยวดยานที่สัญจรผ่านบริเวณโรงเรียนให้เหลือเพียง 30กม./ชม. อันจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงมหาศาลและได้รับการตอบรับจากประชาชนในเวลาต่อมา โดยตนจะนำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้และสังคายนาทางม้าลายเสียใหม่ 

 

สำหรับประเด็นในเชิงกฏหมาย มองว่ารากของปัญหามิได้มีแต่เพียงความอ่อนแอของกฎหมาย แต่ผิดพลาดตั้งแต่การกำหนดความเร็วตั้งต้นอยู่ที่ 80 กม./ชม. ต่างจากประเทศอังกฤษที่กำหนดความเร็วการขับขี่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งผู้คนไม่ค่อยพลุกพล่านได้ไม่เกิน 30กม./ชม. เท่านั้น ฉะนั้นการจำกัดความเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงในการจราจรได้เป็นอย่างมาก ส่วนการพูดถึงปัญหาเชิงเทคนิคที่กล้อง 3,000 ตัวในกทม. มิได้เชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน สุดท้ายสรุปว่าปัจจัยอันจะช่วยให้การจราจรในสังคมไทยดำเนินไปอย่างเป็นปกติสุข คือ เทคโนโลยีและการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก

 

logoline