svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

แบงก์หั่น "ดอกเบี้ย" อุ้มกลุ่มเปราะบาง ฝ่าเศรษฐกิจชะลอตัว

26 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์เฉือนเนื้อตามนโยบายรัฐ หั่นดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง-เอสเอ็มอี 6 เดือน หวังช่วยลดภาระค่าใชจ่ายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนสินเชื่อประเภทไหนบ้างที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าวตามไปดูกันเลย

ต่อลมหายใจให้กับกลุ่มเปราะบาง ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีกันอีกเฮือก หลังซีอีโอแบงก์พาณิชย์ตอบรับคำร้องขอของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีประกาศลดดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยชั้นดี หรือ MRR ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กับประชาชน และช่วยให้ภาคธุรกิจรายย่อยมีโอกาสฟื้นตัว

ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการระยะสั้นในการรองรับการเปลี่ยนผ่าน และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว สอดคล้องกับมาตรการการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย 

ทันใดนั้นธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  ขานรับนโยบายรัฐบาล ประกาศลด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate)  และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.67 ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางด้วยเช่นกัน โดยได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้

แบงก์หั่น \"ดอกเบี้ย\" อุ้มกลุ่มเปราะบาง ฝ่าเศรษฐกิจชะลอตัว

สำหรับภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นไตรมาส 4/ 66 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,360,778 ล้านบาท  สัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 143,332 ล้านบาท หรือ 0.88% หากเทียบกับสิ้นไตรมาส 3/66 หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 16,217,446 ล้านบาท หรือ 91% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้หากเทียกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือสิ้นไตรมาส 4/65 ที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 15,891,939 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.4% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 468,839 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.95%

ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจาก เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,541,267 ล้านบาทหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่  5,313,425 ล้านบาท

สำหรับเงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,504,037 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 233,618 ล้านบาท หรือ 5.47% หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นอยู่ที่  4,270,419 ล้านบาท

ขณะที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพอยู่ที่ 2,911,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,478 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่  2,892,324 ล้านบาท

แบงก์หั่น \"ดอกเบี้ย\" อุ้มกลุ่มเปราะบาง ฝ่าเศรษฐกิจชะลอตัว

Nation STORY
  ได้สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อกลุ่มเปราะบาง และเอสเอ็มอีมากน้อยแค่ไหนไปติดตามกัน

เริ่มจาก ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า การปรับลดดอกเบี้ย MRR  ครั้งนี้  เป็นเรื่องที่ดี  เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีฟื้นตัวช้า ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และมีปัญหาตั้งแต่ก่อนโควิด ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

โดยแนวทางดังกล่าวมีผลกระทบน้อยกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพราะเป็นการเหวี่ยงแหในวงกว้างและอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและไม่กระทบค่าเงินบาทเหมือนการลดดอกเบี้ยนโยบาย และไม่กระทบต่อบอนด์ยิลด์ของเอกชน ส่วนค่าเงินบาทมองว่าจะอ่อนค่าแตะ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนพ.ค.นี้  เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงใน 2 ประเด็นหลักคือ 1. คนที่เห็นดอกเบี้ยถูกลงจะเร่งกู้จนกลายเป็นภาระระยะยาวและหนี้สูงขึ้น และ2 ความเชื่อมั่นนักลงทุนจะกระทบได้หากอธิบายหรือสื่อสารไม่ชัดเจน  โดยเฉพาะต่างชาติไม่พบมาตรการแบบนี้ ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้หวังว่ามาตรการทางการคลังมาฟื้นเศรษฐกิจหลังมีงบประมาณเดือนพ.ค.นี้ และเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ กนง. อาจจะลดดอกเบี้ยลงสักครั้งหลังเฟดลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี  พร้อมรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยว่าจะฟื้นตัวหรือไม่

ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย MRR ครั้งนี้คือกลุ่มสินเชื่อบ้าน และโฮมฟอร์แคช แต่จะมากน้อยแค่ไหนต้องไปดูว่าหลักเกณฑ์ของแต่ละแบงก์ในการกำหนดคำนิยามของคำว่า กลุ่มเปราะบาง  และเอสเอ็มอีเป็นอย่างไร 

ขณะเดียวกันต้องดูผลิตภัณฑ์สินเชื่อด้วยว่ามีการอิงกับดอกเบี้ย MRR มากน้อยแค่ไหน คาดว่าสมาคมธนาคารไทยอาจจะมีรายละเอียดเงื่อนไขเพิ่มเติมออกมาอีกครั้ง

ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดในเดือนก.พ. 67 พบว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยมีประมาณ 14.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ 6.2 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 42% สินเชื่อรายย่อย 5.45 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 37%  และสินเชื่อเอสเอ็มอี 3 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 21%

ถ้าเจาะลึกเข้าไปในสินเชื่อรายย่อย 4.54 ล้านล้านบาทจะพบว่า แบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 2.7 ล้านล้านบาท เช่าซื้อ 1.2 ล้านล้านบาท บัตรเครดิต 2.37 แสนล้านบาท สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับ 2.3 แสนล้านบาทที่เหลือเป็นสินเชื่อประเภทอื่น ๆ  1 ล้านล้านบาท

เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีความตั้งใจในการช่วยเหลือประชาชนแบ่งเบาภาระในช่วงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และหวังว่ากลุ่มเปราะบาง

ซึ่งเป็นฐานคนส่วนใหญ่ของประเทศ และธุรกิจรายย่อยจะสามารถลืมตาอ้าปากและฟื้นตัวได้ในเร็ววัน แต่สิ่งสำคัญคือลูกหนี้เองก็ต้องมีวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายไม่เกินตัว เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ด้วย

เพราะหากหลงเพลินกับการใช้จ่ายเงินแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ว่ารัฐจะถาโถมช่วยเหลือยังไงภาระหนี้ก็ไม่มีวันหมดและอาจพอกพูนขึ้นจนเกินเยียวยา กลายเป็นหนี้เสียกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไม่สิ้นสุด….

logoline