svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คลายข้อกังวลคุณแม่ตั้งครรภ์ ในสถานการณ์โควิด-19 ควรระวัง-ปฏิบัติอย่างไร

04 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คลายข้อกังวลคุณแม่ตั้งครรภ์ - การวางแผนมีบุตร ในสถานการณ์โควิด-19 ควรระวังและปฏิบัติอย่างไร ให้มีความปลอดภัย

4 กุมภาพันธ์ 2565 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างความอึดอัดต่อการดำเนินชีวิตอย่างสูง ยิ่งระยะเวลาเนิ่นนานเท่าไร ยิ่งเพิ่มความเครียด ความกังวลต่อสภาวะแวดล้อมรอบตัว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการวางแผนดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการวางแผนมีบุตร ทั้งในรายที่แต่งงานก่อนที่วายร้ายไวรัสโคโรนา จะระบาดหรือในช่วงที่ระบาดอยู่ก็ตาม แม้ปัจจุบันจะผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้วก็ ต่างยังมีคำถามในใจว่า ถ้ามีบุตรทารกในครรภ์ จะมีความปลอดภัยหรือไม่ สุขภาพของแม่ และอีกหลายปัจจัย จะเป็นอย่างไร บางรายถึงขนาดต้องเลื่อนการมีบุตรออกไป แต่อีกหลายครอบครัวก็พร้อมที่จะมีบุตร

แพทย์หญิงสิริสุข อุ่ยตระกูล สูตินรีแพทย์

ดังนั้นเพื่อคลายความกังวลต่างๆ มาฟังความเห็นของแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา แพทย์หญิงสิริสุข อุ่ยตระกูล สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลากหลายยี่ห้อ ที่ได้ทำการทดลองในสัตว์ที่ตั้งครรภ์ และยังไม่พบผลข้างเคียงที่ผิดปกติ เช่น วัคซีนจากโมเดอร์นา (Moderna) ไฟเซอร์ (Pfizer) และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson)  แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลข้างเคียง ของวัคซีนในผู้ที่ตั้งครรภ์ ค่อนข้างมีข้อจำกัดและยังมีจำนวนไม่มากนัก

ในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) รายงานข้อมูลว่า แม้ว่าความเสี่ยงโดยรวมของการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ของผู้ที่ตั้งครรภ์จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับการเจ็บป่วย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และยังมีรายงานด้วยว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโควิด-19 อาจมีอาการรุนแรงได้หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน รวมทั้งมีภาวะครรภ์เป็นพิษทำให้มีโอกาสต้องเข้ารักษาในห้อง ICU หรือใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่า

 

รวมทั้งอาจพบอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ นอกจากนี้ การติดเชื้อโควิด-19 มีผลต่อการตั้งครรภ์ คือ มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่า คนตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ แต่ยังไม่พบความพิการของเด็กเพิ่มสูงขึ้น

 

สำหรับคำถามสำคัญหรือข้อกังวลของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร และกำลังพยายามตั้งครรภ์ช่วงนี้ หรือมีแผนในอนาคต คือ หลังจากการรับวัคซีนโควิด-19 แล้ว จะมีผลข้างเคียงหรือส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ เช่น ทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการสูญเสียทารกในครรภ์ หรือทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการไม่เต็มที่หรือไม่?

แพทย์หญิงสิริสุข ชี้แจงว่า จากข้อมูลการศึกษาหลักการทำงานและประสิทธิภาพความปลอดภัยของวัคซีนโควิดในกลุ่มผู้ที่ต้องการมีบุตร ยังไม่พบว่าการรับวัคซีนส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ หรือทำให้มีบุตรยากขึ้น

 

ความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 กับการตั้งครรภ์ อยากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ เพื่อประเมินความเสี่ยง หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากติดเชื้อ รวมถึงประเมินผลดี ผลเสีย เปรียบเทียบกับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน หากพิจารณาแล้วว่าพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 มากกว่า แพทย์อาจลงความเห็นว่าให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน

 

ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว สามารถวางแผนตั้งครรภ์ได้หรือไม่นั้น ตามคำแนะนำของ CDC ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เนื่องจากตามทฤษฎีแล้ว วัคซีนจะไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ จึงไม่น่าจะมีการกลายพันธุ์ทั้งในตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังได้รับวัคซีน ดังนั้น สำหรับคู่สมรสที่มีแผนตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีน ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ในประเด็นข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 กับการมีบุตร เช่น อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ CDC รายงานข้อมูลว่า ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดในกลุ่มแม่ที่ให้นมบุตร รวมถึงทารกที่ได้รับนมจากแม่ที่ฉีดวัคซีน หรือลักษณะของน้ำนมของผู้ที่รับการฉีดวัคซีน แต่เนื่องจาก ลักษณะของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย จึงไม่น่าจะเกิดความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน

 

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่า เพื่อรอผลศึกษาจากงานวิจัยที่แน่ชัด แม่ที่ให้นมบุตรและไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ควรชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าจะพ้นช่วงให้นมบุตร ส่วนผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรและมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนกับความเสี่ยงของวัคซีน โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้โดยปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนตัดสินใจ

ที่มาฐานเศรษฐกิจ

logoline