svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นับถอยหลัง"หลักสี่-จตุจักร"ตัวเต็งงัดไม้เด็ดขอคะแนน

29 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สนามเลือกตั้งซ่อม กทม. เขต 9 "หลักสี่ –จตุจักร" ถึงนาทีนี้ กูรูการเมืองแนะให้จับตาคู่ชิงจาก 2 พรรค คือ "เพื่อไทย" กับ "กล้า" ขณะที่ "พลังประชารัฐ-ก้าวไกล" ลุ้นพลิกเกมสอดแทรก ส่วน "ไทยภักดี" ชิมลางสนามแรกในพื้นที่เมืองหลวง รอเช็คคะแนนสนับสนุน  

ช่วง 36 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนเปิดหีบหย่อนบัตร "เนชั่นทีวี" ประมวลกลยุทธ์หาเสียงของผู้สมัครตัวเต็งแต่ละพรรค ว่าแต่ละคนงัดไม้เด็ดอะไรมาใช้ เพื่อคว้าชัยในศึกเลือกตั้งซ่อม 

 

เริ่มจากพลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่เดิมและปัจจุบันยังครองอำนาจรัฐ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่สนามนี้ถือว่าเสียเปรียบ เพราะต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านๆ มาที่เคยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช เขต 3 เมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว สามารถคว่ำประชาธิปัตย์ได้ โดยมี ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค เป็นคู่กุมบังเหียน 

 

นับถอยหลัง"หลักสี่-จตุจักร"ตัวเต็งงัดไม้เด็ดขอคะแนน

 

ส่วนการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร กับสงขลา แม้จะพ่ายแพ้ให้กับประชาธิปัตย์ แต่ก็ถือว่าได้คะแนนเพิ่มในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของตัวเองมาก่อน แถมยังเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่ไม่มีกระแสระดับชาติ ซึ่งก็แน่นอนว่ามีผู้กองธรรมนัส คอยกุมบังเหียนอยู่เช่นกัน 

 

แต่การเลือกตั้งซ่อม "จตุจักร-หลักสี่" ไม่มีผู้กองธรรมนัส เพราะถูกขับพ้นพรรคไปแล้ว ขณะที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรค ก็ติดโดวิด ทำให้พลังประชารัฐไม่มีแม่ทัพที่ชัดเจน

 

แม้ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะลงไปช่วยหาเสียงให้กับ "มาดามหลี" สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ก็ไม่มีการจัดเวทีใหญ่ ส่วนการลงพื้นที่ในห้วง 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง มีการแก้เกมส่ง "แกนนำสามมิตร" ลงไปช่วย เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็เหมือน "ปลาผิดน้ำ" เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่แกนนำสามมิตรคุ้นชิน 

 

 

 

 

 

พลังประขารัฐพยายามเน้นหนักรุกชุมชน แต่นักสังเกตการณ์ในพื้นที่มองว่า "เดินไม่สุด" ทำให้คนที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐ อาจจะเทมาเลือกเพื่อไทยแทน เพราะฐานเสียงของทั้ง 2 พรรค มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน คือ มีภาพเป็นพรรคใหญ่ที่มีความเป็นพรรคต่างจังหวัด

 

สอดคล้องกับพื้นที่หลักสี่ ซึ่งเป็นชานเมืองกรุงเทพ กูรูการเมืองฟันธงว่าพลังประชารัฐต้องลุ้นเหนื่อย หากจะเอาชนะเลือกตั้งซ่อมสนามนี้ 

 

ส่วนพรรคเพื่อไทย ถือว่าพลาดไม่ได้กับสนามเลือกตั้งนี้ เพราะส่งเลือกตั้งซ่อมแค่สนามเดียว ซึ่งสนามอื่นอย่างชุมพร สงขลา หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค อ้างว่าระยะเวลาสภาฯ เหลือน้อย ใกล้ยุบสภาฯ จึงไม่ส่ง แต่กลับส่งสนามนี้ ทั้งๆ ที่เลือกตั้งทีหลัง 

 

นับถอยหลัง"หลักสี่-จตุจักร"ตัวเต็งงัดไม้เด็ดขอคะแนน

 

ซึ่งสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย เน้นหนักพื้นที่ชุมชน เพราะสำรวจออกมาแล้วว่า ฐานเสียงสำคัญอยู่ในช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงาน โดยฐานเสียงกลุ่มนี้แย่งชิงกันกับ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า รวมถึง "เพชร" กรุณพล เทียนสุวรรณ กับมาดามหลี แต่สุรชาติได้เปรียบกว่า 

 

นอกจากนั้น ในกลุ่มอายุเกิน 60 ปี สุรชาติยังต้องเบียดแย่งคะแนนกับพรรคไทยภักดีด้วย เพราะเจ้าตัวอยู่ในพื้นที่มานาน ทำงานตลอด แม้ไม่มีตำแหน่ง จึงผูกพันกับผู้เฒ่าผู้แก่ คนสูงอายุ 

 

ช่วงโค้งสุดท้าย มีการดึง ส.ส. และอดีต ส.ส.ในพื้นที่ใกล้เคียง อย่าง เก่ง การุณ โหสกุล จากดอนเมือง จิรายุ ห่วงทรัพย์ จากคลองสามวา เข้ามาช่วย โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างพื้นที่ดอนเมืองกับหลักสี่ ด้วยการแบ่งทรัพยากร เช่น รถและคน เพื่อใช้หาเสียง รวมถึงยังมีทีม คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ แห่งพรรคไทยสร้างไทย มาระดมช่วยอีกแรง เรียกว่าเป็น "เพื่อไทยสร้างไทย" ก็คงไม่ผิดนัก เพราะนายสุรชาติ มีความใกล้ชิดกับคุณหญิงสุดารัตน์  

 

ที่น่าจับตาคือ การขยับตัวของ "ป๋าเหนาะ" เสนาะ เทียนทอง นักการเมืองรุ่นลายคราม บิดาของสุรชาติ ที่ออกตัวช่วยลูกชายให้คว้าตั๋วเข้าสภาฯ ไม่ว่าอายุสภาฯจะเหลือมากหรือน้อย เพราะเป็นการการันตีรักษาเก้าอี้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า 

 

สำหรับ "ป๋าเหนาะ" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยถือเป็น "นักปั้นนายกฯ" เพราะอยู่เบื้องหลังการก้าวขึ้นเก้าอี้นายกฯของนักการเมืองคนสำคัญถึง 3 คน คือ บรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ ทักษิณ ชินวัตร ฉะนั้นภารกิจปั้นลูกเป็น ส.ส.จึงไม่น่าจะยากเกินไป 

 

ขณะที่ก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในศึกเลือกตั้งซ่อมมาแล้วหลายสนาม หากนับรวมถึงยุคพรรคอนาคตใหม่ หลักๆ คือ ชุมพร กับสงขลา แต่ก็พ่ายแพ้อย่างราบคาบ คะแนนดิ่งลงเรื่อยๆ ต่ำกว่าพรรคกล้าด้วยซ้ำที่ชุมพร ดังนั้น สนามเลือกตั้งซ่อม "หลักสี่-จตุจักร" จึงแพ้ไม่ได้ หากแพ้อาจต้องรื้อยุทธศาสตร์พรรคกันใหม่ทั้งหมด 

 

การส่ง "เพชร กรุณพล" ลงสมัครรับเลือกตั้ง ถือว่าได้ใจคนรุ่นใหม่ และอาศัยความดังเพราะเคยเป็นดารา นักแสดง พิธีกรมาก่อน ฐานเสียงเป้าหมายเป็นกลุ่มคนอายุ 18-30 ปี และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ 

 

นับถอยหลัง"หลักสี่-จตุจักร"ตัวเต็งงัดไม้เด็ดขอคะแนน

 

โจทย์ยากของพรรคก้าวไกล คือ ยิ่งส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ยิ่งได้คะแนนน้อยลงเรื่อยๆ อาจเป็นไปได้ว่า นโยบายพรรค หรือจุดยืนพรรคไม่ตอบโจทย์ หลายเรื่องถูกมองว่าทำงานการเมืองไม่ต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่า โดยเฉพาะการเน้นวิจารณ์แต่กลับไม่เสนอวิธีแก้ไข แนวๆ "ขับเคลื่อนด้วยการด่า" ฉะนั้นหลายฝ่ายจึงประเมินว่าไม่ใช่งานง่ายหากจะเอาชนะ 

 

สำหรับพรรคกล้า แม้จะเป็นพรรคเล็กน้องใหม่ แต่ก็ไม่ใหม่การเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่นี้ เพราะ "เอ๋ อรรถวิชช์" เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย และยังมีความชำนาญพื้นที่ ประกอบกับการเลือกตั้งทุกสนาม พรรคกล้าถือว่าจัดเต็มมาตลอด ทั้งนครศรีธรรมราช สงขลา และชุมพร ต่างจากพรรคเล็กพรรคอื่นๆ ที่เลือกไม่ส่งมากกว่าส่ง อย่างบางพรรคใหญ่ยังหลบ เช่น เพื่อไทย กรณีภาคใต้ และ ประชาธิปัตย์ กรณีหลักสี่-จตุจักร

 

แต่กลุ่มฐานคะแนนของอรรถวิชช์ ทับซ้อนกับสุรชาติ จึงเป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันชัดเจน ทั้งคนในชุมชน คนกลุ่มอายุ 35-60 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะอรรถวิชช์ เป็น ส.ส.เก่า แม้ระยะหลังจะห่างเหินพื้นที่ไป และจริงๆ แล้วพื้นที่ฐานคะแนนหลักของอรรถวิชช์ อยู่ที่จตุจักรมากกว่าหลักสี่ 

 

แต่ "เอ๋ อรรถวิชช์" ยังมีตัวช่วย คือ ฐานเสียงและหัวคะแนนของ สกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเพิ่งลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ปัจจุบันยังเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. นอกจากนั้นยังดึงคะแนนจากแฟนคลับประชาธิปัตย์ด้วย ทั้งจาก "ผู้การแต้ม" พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัคร และ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมืองรุ่นลายครามของพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณตัวยง อย่าง อาจารย์ แก้วสรร อติโพธิ และ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ รวมถึงกลุ่มอดีตแกนนำ กปปส. 

 

นับถอยหลัง"หลักสี่-จตุจักร"ตัวเต็งงัดไม้เด็ดขอคะแนน

 

จุดแข็งของ "เอ๋ อรรถวิชช์" คือ เป็น ส.ส.เก่า ไม่ใช่มือใหม่หัดขับ หรือต้องเข้าไปฝึกงานก่อน ที่สำคัญยังมีภาพในเรื่องเศรษฐกิจ และกฎหมาย (จบนิติศาสตร์) จึงมีลุ้นเข้าสภาฯ เป็น ส.ส.คนแรกของพรรคกล้า แต่จะฝ่าด่านเข้าไปได้หรือไม่ ต้องถาม สุรชาติ เพชร และมาดามหลี ด้วยเช่นกัน 

 

สำหรับพรรคไทยภักดี ชิมลางสนามนี้เป็นครั้งแรก จึงยากที่จะพลิกมาชนะ หรือเป็นฝ่ายเข้าวิน เนื่องด้วยฐานเสียงสำคัญของพรรค และผู้สมัคร คือ พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ คือ กลุ่มคนสูงอายุ และกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งมีความผูกพันกับสถาบัน เพราะจุดยืนพรรคชัดเจนในเรื่องการปกป้องสถาบัน นอกจากนั้นยังชูจุดขาย "ไม่กร่าง ไม่กุ๊ย ไม่โกง" ซึ่งเป็นสโลแกนแซะอดีต ส.ส.เขตนี้ด้วย 

 

นับถอยหลัง"หลักสี่-จตุจักร"ตัวเต็งงัดไม้เด็ดขอคะแนน

 

ช่วงโค้งสุดท้าย พรรคไทยภักดีได้แรงหนุนจากคนดัง และดารารุ่นใหญ่ที่มีจุดยืนรักสถาบัน ออกมาช่วยกันหาเสียงขอคะแนน โดยเฉพาะ "นก" ฉัตรชัย เปล่งพานิช รวมถึง หมอเหรียญทอง แน่นหนา ไอดอลของคนรักสถาบัน ดังนั้น ต้องรอดูว่า ไทยภักดีจะกวาดคะแนนกลับมาได้เท่าไหร่ และจะวางยุทธศาสตร์พรรคต่อไปอย่างไร

logoline