svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สถานการณ์รัฐบาล "ชำรุดยุทธ์โทรม" ท้าทายอายุรัฐบาล

22 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์รัฐบาล สถานการณ์นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนความสุ่มเสี่ยงใน "ความอ่อนแอ และง่อนแง่น" ท้าทายอายุรัฐบาล

บทเพลงอย่ายอมแพ้ เหมือนว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องการจะบอกคนไทย 70 ล้านคน ไม่ให้ท้อแท้หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ แต่ลึกๆ แล้ว เนื้อหาเพลงๆ นี้ น่าจะเหมาะกับนายกฯตู่ มากที่สุด ที่ต้องปลุกปลอบ สร้างกำลังใจให้กับตนเอง ในยามเสถียรภาพรัฐบาลกำลังอ่อนแอ และง่อนแง่นที่สุดในรอบ 7-8 ปี

สถานการณ์รัฐบาล "ชำรุดยุทธ์โทรม" ท้าทายอายุรัฐบาล

เป็น "ความอ่อนแอ และง่อนแง่น" จากปัญหาเสถียรภาพภายในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้างวิเคราะห์ว่า การขับส.ส.กลุ่มผู้กองธรรมนัส 21 คน ออกไป เป็นจุด "แตกหัก" ระหว่าง "พล.อ. กับ ร.อ." บ้างวิเคราะห์ว่า เป็นการจับมือของ "บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ ร.อ.ธรรมนัส "เขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี" เพราะยังสามารถต่อรองเสียงโหวตส.ส.แลกเก้าอี้รัฐมนตรี

 

เป็น "ความอ่อนแอ และง่อนแง่น" จากปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะว่าไปแล้ว การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 สงขลา และเขต 1 ชุมพร เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ความไม่พอใจกันและกันของ 2 พรรคการเมือง ยิ่งการหาเสียงแบบ"สาดโคลน" ชกใต้เข็มขัด แบ่งชนชั้นรวย-จน โยนเผือกร้อนปัญหาของแพงทั้งแผ่นดินไปให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแล ก.เกษตรฯ และ ก.พาณิชย์ ซึ่งถ้าข้อกล่าวนี้เหล่านี้ซุ่มเสียงมาจากพรรคฝ่ายค้าน พอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องการหาเสียง ที่ต้องการชิงความได้เปรียบชิงฐานคะแนนเสียง แต่มันหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เลย แต่เมื่อมาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน มันหาคำมาอธิบายยาก

สถานการณ์รัฐบาล "ชำรุดยุทธ์โทรม" ท้าทายอายุรัฐบาล

สถานการณ์รัฐบาล "ชำรุดยุทธ์โทรม" ท้าทายอายุรัฐบาล

การหาเสียงเลือกตั้งแบบสาดโคลน โยนบาปให้เพื่อนพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้มอง"ฉากทัศน์" การหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ได้แจ่มชัดขึ้น 

 

"ฉากทัศน์" ที่ต่อจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างพลังประชารัฐ กับประชาธิปัตย์ ล้วนน่าสนใจในทุกบริบททั้ง "ใน" และ "นอก" สภาฯ ซึ่งสามารถไล่เรียงเหตุการณ์ที่จะเกิดในห้วงจากนี้ไป  

 

ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ

 

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคได้ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อ 21 ม.ค.65 กลเกมของฝ่ายค้านครั้งนี้มีการขยับไทม์ไลน์การยื่นเพื่อขอเปิด “อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” จากเดิมที่พรรคก้าวไกล ต้องการขอเปิดอภิปรายในช่วงปลายปี 64 แต่พรรคเพื่อไทย ขอรอให้สถานการณ์ต่างๆ สุกงอมประมาณต้นปี 65 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายสมัยประชุมสภาฯ และนั่นจะทำให้ภาพตรวจสอบการทำงานรัฐบาลในสภาฯ มีความต่อเนื่อง นั่นคือ อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติในช่วงเดือน ก.พ.65 และจากนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมหน้า เดือนพ.ค.65 พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อชิงจังหวะขยี้แผลรัฐบาล รวมถึง ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปในคราวเดียวกัน

สถานการณ์รัฐบาล "ชำรุดยุทธ์โทรม" ท้าทายอายุรัฐบาล

ฝ่ายค้านซักฟอก 4 ข้อหาฉกรรจ์

 

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ มี "แผลฉกรรจ์” จากศึกซักฟอกรอบที่แล้วเมื่อเดือนก.ย.64 หนักสุดคือ "แผนล้มกระดาน” โดยเป็นที่รู้กันว่าแผนนี้มีแกนนำคนสำคัญ คือร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอยู่เบื้องหลัง แต่ข่าวรั่วเสียก่อน ผู้กองธรรมนัส จากผู้ "ก่อปฏิวัติ" ก็กลายเป็น "กบฏ"

 

แต่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดศึกซักฟอกไปได้อย่างหวุดหวิด โดยผลคะแนน นายกฯ ได้รับเสียง “ไม่ไว้วางใจ” มากที่สุด มิหนำซ้ำยังได้รับเสียง “ไว้วางใจ” อยู่ในลำดับรองบ๊วย

สถานการณ์รัฐบาล "ชำรุดยุทธ์โทรม" ท้าทายอายุรัฐบาล

ดังนั้น “เกมซักฟอก” ที่กำลังจะเกิดขึ้นกลับยิ่งไปเข้าทางพรรคฝ่ายค้านในการล็อกเป้าเพื่อขยายแผลใหญ่รัฐบาล พุ่งตรงไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ สะกิดแผลฉกรรจ์ ที่เคยได้รับให้กำเริบอีกคำรบหนึ่ง ยิ่งในห้วงของวิกฤติโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน ยิ่งลดทอนความเชื่อมั่น ศรัทธา และความชอบธรรมของรัฐบาล ให้ตกต่ำลงไปโดยปริยาย

 

สำหรับ 4 ข้อหา ที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ดังนี้

 

1. วิกฤติเศรษฐกิจ ในยุคข้าวของแพงค่าแรงถูก "แพงทั้งแผ่นดิน"

2. วิกฤติโรคระบาด ทั้งโควิด-19 โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ที่มีการปกปิดข่าวการระบาด ฝ่ายค้านต้องการสอบถามรัฐบาล แม้ฝ่ายค้านจะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ไปเมื่อ 20 ม.ค.65 แต่ก็ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่อีกมากที่จะต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียด

3. วิกฤติการเมือง ยุคปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว ยุคการเมืองที่ใช้เงินเป็นหลัก

4. วิกฤติเรื่องของความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ที่ไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหายาเสพติดที่ระบาดเต็มบ้านเมือง เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องสิ่งแวดล้อมภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่สำคัญคือ การบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ กรณีเหมืองทองคำอัครา ที่อนุญาโตตุลาการจะมีการชี้ขาดในคดีข้อพิพาทในวันที่ 31 ม.ค.นี้ และปัญหาชาวประมง เป็นต้น

 

เดิมพันอายุรัฐบาล"ชำรุดยุทธ์โทรม"


เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ แม้ก่อนหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามย้ำนักย้ำหนาว่า “จะอยู่ครบเทอมไปจนถึงปี2566” แต่ศึกหนักที่กำลัง “บดขยี้” อยู่รอบด้าน ณเวลานี้ ส่งผลให้รัฐบาลรวมถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสภาวะ “ชำรุดยุทธ์โทรม”

logoline