เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์เชิญชวนประชาชนรับชมปรากฎการณ์คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งดวงจันทร์จะโคจรอยู่ระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ระยะห่างจากโลกประมาณ 401,011 กิโลเมตร ที่จะเกิดขึ้นในคืนนี้ (18 ม.ค.)
ทั้งนี้จะเริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.30 น.เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
สำหรับดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละเดือน จะมีวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า “เปริจี” (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า “อะโปจี” (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร
การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้ หรือไกลโลก มีขนาดที่แตกต่างกัน นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
อนึ่งขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุด หรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ แต่ในวันนี้ เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง และอยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุดในปีนี้พอดี จึงเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน”
ขณะที่ปรากฎการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดรอบปีนี้ จะเกิดขึ้นวันที่ 14 ก.ค.ที่ระยะห่างจากโลก 357,411 กิโลเมตร วันดังกล่าว จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง มีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย